ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยความสำเร็จการผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจ พร้อมเปิดตัว “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3 แห่งแรกของประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรุงเทพฯ 19 กันยายน 2567 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดเสวนาแถลงข่าวภายใต้ชื่องาน The New Frontier of Nuclear Medicine in Thailand ก้าวล้ำนำอนาคต เปิดมิติใหม่ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เปิดศักยภาพเผยความสำเร็จกับนวัตกรรมการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน 6 สารใหม่ล่าสุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจทางภาพวินิจฉัยการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี ของการจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมเปิดตัวเครื่อง “SPECT/CT” Symbia Pro.Specta รุ่น X3 เทคโนโลยีภาพวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางวิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วยมาตรฐานการรับรอง Earl Accreditation สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และ PET/MRI แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียจากสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งยุโรป แสดงถึงการเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศและมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์กับหลายสถาบันและหน่วยงานทั่วโลก โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ดร.ประดิษฐ์  เลิศสิริสุข นักเคมีรังสี และคุณอรรถพล จันทรโท นักรังสีการแพทย์ และ Chris Poray, Managing Director of Siemens Healthineers  Thailand ร่วมเสวนาแถลงข้อมูลเผยความก้าวหน้าการให้บริการทางการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ก้าวล้ำนำอนาคตภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ  โดยมีโรงพยาบาลเครือข่ายเข้าร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยว่า “ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร โดยเป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2549 จากพระปณิธานและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานการดำเนินงานด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดแก่ประชาชนคนไทย ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้มีภารกิจด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนและเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือการสร้างภาพวินิจฉัยขั้นสูงทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อย่างครบวงจร ทั้งเพทสแกนและสเปคซีทีเพื่อให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงเป็นสถานที่วิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การแถลงความก้าวหน้าการให้บริการทางการแพทย์ภายใต้การทำงานของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในวันนี้เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของทางศูนย์ฯ ที่มุ่งมั่นคิดค้นและพัฒนาต่อยอดการผลิตสารเภสัชรังสีใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ให้กับประเทศชาติต่อไป ประกอบกับศักยภาพความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ตามพระปณิธาน”

ด้าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ประดิษฐ์ เลิศสิริสุข นักเคมีรังสี และคุณอรรถพล จันทรโท นักรังสีการแพทย์ ได้ร่วมเปิดเผยถึงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จในการผลิตสารเภสัชรังสีตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานมา 18 ปี ของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โดยอธิบายถึงบทบาทสำคัญของสารเภสัชรังสีว่าเป็นสารกัมมันตรังสีที่ติดฉลากกับสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติที่เหมาะสมในปริมาณเล็กน้อยที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปยังอวัยวะเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้สามารถนับวัดรังสีและถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยโรค หรือใช้ทำลายเนื้อเยื่อเพื่อการรักษาโรคได้อย่างแม่นยำ โดยเทคโนโลยีการสร้างภาพในระดับโมเลกุล (Molecular Imaging) ของเวชศาสตร์นิวเคลียร์หรือการตรวจด้วยเพทสแกนในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าและนับว่ามีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาทและโรคหัวใจ รวมทั้งการผลิตสารเภสัชรังสีที่มีการพัฒนาอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลที่ทันสมัยและมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการรักษาที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลในทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นมีการผสมผสานกับข้อมูลทางกายวิภาคเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านชีวโมเลกุลของโรคที่แม่นยำเพื่อก่อให้เกิดการวางแผนรักษาเฉพาะรายที่ได้ผลประโยชน์สูงสุด สารเภสัชรังสีถูกผลิตขึ้นจากเครื่องไซโคลตรอน ซึ่งจัดเป็นเครื่องกำเนิดรังสี ที่เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใช้สำหรับการผลิตไอโซโทปรังสี โดยการเปลี่ยนธาตุที่เสถียรไปเป็นธาตุที่เป็นไอโซโทปรังสีสำหรับการใช้ในทางการแพทย์ เมื่อได้ปริมาณความแรงรังสีตามที่ต้องการใช้ในการผลิตสารเภสัชรังสีแล้ว ก็จะถูกนำส่งไปยังเครื่องสังเคราะห์สารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติ เพื่อทำการติดฉลากไอโซโทปรังสีเข้ากับตัวยาที่มีความจำเพาะกับรอยโรคต่าง ๆ ด้วยปฏิกิริยาทางเคมี เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการติดฉลากไอโซโทปรังสีจะเข้าสู่กระบวนการทำให้บริสุทธิ์ และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เป็นยาฉีดโดยเข้าสู่กระบวนการควบคุมคุณภาพเพื่อตรวจสอบว่าสารเภสัชรังสีที่ผลิตได้คุณภาพตามเภสัชตำรับและปลอดภัย ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงและมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิดทำให้มีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกนที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ และมีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้มากกว่า 25 ชนิด และในโอกาสครบรอบ 18 ปี ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้เปิดอีก 6 นวัตกรรมความก้าวหน้าและถอดรหัสความสำเร็จของการศึกษาวิจัยในการผลิตสารเภสัชรังสี 6 ชนิดใหม่ล่าสุด ประกอบด้วย

1) 18F-Fluorocholine สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยการทำงานของต่อมพาราไทรอยด์ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญ โดยมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากการตรวจทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ การแสดงประสิทธิภาพสูงในการตรวจหาต่อมพาราไทรอยด์ที่ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่การตรวจด้วยวิธีดั้งเดิม เช่น อัลตราซาวด์และการสแกนด้วย 99mTc-sestamibi ให้ผลลบหรือไม่ชัดเจน โดยการศึกษาพบว่า 18F-Fluorocholine ใน PET/CT สามารถตรวจพบต่อมพาราไทรอยด์ที่ผิดปกติได้มากกว่า 90% ในผู้ป่วยที่มีผลการตรวจแบบดั้งเดิมเป็นลบ 18F-Fluorocholine นับเป็นสารเภสัชรังสีที่มีประสิทธิภาพสูงในการวินิจฉัยความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ โดยเฉพาะในกรณีที่การตรวจแบบดั้งเดิมให้ผลไม่ชัดเจน ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2) 15O-Radiowater perfusion การใช้น้ำรังสีเพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ และในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต น้ำรังสีเป็นสารเภสัชรังสีที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำเลือด สามารถใช้เพื่อการตรวจดูการไหลของเลือดในร่างกายได้อย่างแม่นยำและสัมพันธ์กับกระบวนการที่แท้จริงของร่างกาย โดยทางศูนย์ฯ ได้นำมาใช้สำหรับการตรวจกล้ามเนื้อหัวใจโดยเทคนิคนี้ใช้ PET scan ร่วมกับการฉีดน้ำรังสี Oxygen-15 เข้าสู่ร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพการไหลเวียนของเลือดในหัวใจได้อย่างละเอียด ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจโดยไม่รุกล้ำ การตรวจการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจโดยใช้น้ำรังสีนี้ ถือเป็นการตรวจที่ดีที่สุดในการบ่งชี้โรคของหลอดเลือดหัวใจ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดขนาดเล็กที่มีปัญหา ซึ่งบางครั้งอาจตรวจไม่พบด้วยวิธีอื่น ข้อดีของวิธีนี้ คือ ให้ค่าเชิงตัวเลขที่แม่นยำใช้ในการประเมินและติดตามผลได้ ไม่ต้องใช้สารทึบรังสีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และปลอดภัยต่อผู้ป่วยโดยได้รับรังสีเพียง 5 mSv ตลอดการตรวจ สะดวกรวดเร็วตรวจเสร็จภายในวันเดียว ต่างจากวิธีมาตรฐานที่ใช้เวลา 2 วัน โดยการตรวจด้วยการฉีดน้ำรังสี Oxygen-15 radio water ใช้เวลาการถ่ายภาพรวม 12 นาทีและระยะเวลาการตรวจทั้งหมดประมาณ 35-40 นาที มีความปลอดภัยเนื่องจาก Oxygen-15 มีค่าครึ่งชีวิตสั้นมาก และมีความไวในการตรวจสูงสามารถตรวจพบได้แม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจหาโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะเริ่มต้น การตรวจการไหลเวียนของเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจโดยใช้น้ำรังสี Oxygen-15 เป็นวิธีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยแบ่งการตรวจเป็น 2 ช่วง คือการตรวจแบบ Rest: หรือตรวจขณะที่หัวใจทำงานปกติ และการตรวจแบบ Stress หรือการใช้ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจโดยมีขั้นตอนการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยนอนราบยกแขนใต้เครื่อง PET/CT เปิดเส้นเลือดดำที่แขนเพื่อฉีดน้ำรังสี Oxygen-15 ซึ่งผลิตด้วยเครื่อง radio water generator ที่เชื่อมต่อกับเครื่องเร่งอนุภาค (ใช้เวลาประมาณ 2 นาที) การฉีดน้ำรังสีใช้แบบ Bolus (ฉีดเร็วเป็นก้อน) ปริมาณ 15 mCi และเก็บภาพแบบ Dynamic พร้อมกับการฉีดน้ำรังสี (ใช้เวลา 6 นาที) รอสารรังสีสลายตัว 10-15 นาที จากนั้นทำซ้ำขั้นตอนเดิมสำหรับการตรวจแบบ Stress โดยใช้ยากระตุ้นหัวใจก่อนฉีดน้ำรังสี 1 นาที 40 วินาที นอกจากนี้ เทคนิคการฉีดน้ำรังสี Oxygen-15 นี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับอวัยวะอื่นได้ เช่น การตรวจการไหลเวียนของเลือดในไต โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตเพื่อประเมินสภาวะผิดปกติหลังการผ่าตัด ซึ่งได้นำมาให้บริการผู้ป่วยปลูกถ่ายไตเคสแรกของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผลการตรวจจะแสดงเป็นค่าตัวเลขที่สะท้อนถึงปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงไตอย่างแม่นยำ และวิธีนี้ยังให้ผลการตรวจที่แม่นยำและเป็นค่าจริง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงอื่น ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3) 15O-gas การใช้แก๊สรังสีเพื่อตรวจประเมินภาวะหลอดเลือดสมองตีบ โดยวิธีการไม่ใช้ตัวอย่างเลือดในเครื่อง PET/MRIครั้งแรกในโลก การตรวจแก๊สรังสีของสมอง คือการตรวจด้วยเทคนิคที่เรียกว่า SSDA Method without blood sampling โดยใช้ PET MRI ถ่ายภาพวินิจฉัย เป็นการคิดค้นโดยความร่วมมือกับ Turku PET center ของประเทศ Finland (ผู้สร้าง software) และวิธีการ SSDA พัฒนามาจากความร่วมมือของ Nagoya General Rehabilitation Center Hospital ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเทคนิคSSDA ย่อมาจาก Single Study Dual Administration คือ วิธีการตรวจวิเคราะห์หลอดเลือดสมองแบบไม่รุกล้ำ โดยใช้เทคโนโลยี PET MRI ร่วมกับการให้แก๊สรังสีสามชนิดตามลำดับ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ในการตรวจครั้งเดียว โดยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือด เป็นนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยโดยการใช้ออกซิเจนและการไหลเวียนเลือดในสมองเพื่อประเมินโรคหลอดเลือดสมองตีบ และระบุตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดสมองตีบในสมองซ้ำได้ ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถวางแผนและติดตามการรักษาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงคาโรติดตีบ (carotid artery stenosis) และหลอดเลือดในสมอง stroke ขั้นตอนการตรวจ คือการให้คนไข้ใส่สายออกซิเจนที่ทำหน้าที่ลำเลียงแก๊สรังสีที่ผลิตมาจากเครื่องไซโคลตรอนและครอบทับด้วยหน้ากากผ้าและหน้ากากซิลิโคน มีกระบวนการตรวจและการหายใจแต่ละขั้นตอนซึ่งจะซักซ้อมการหายใจและให้คนไข้นอนราบ โดยจะมีการให้แก๊สรังสีทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละสารจะใช้เพื่อดูลักษณะการทำงานของสมองที่แตกต่างกันออกไป โดยสารแรก CO คือการตรวจปริมาตรเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เรียกว่า Cerebral blood volume หรือ ภาพ CBV สารที่สอง คือ การให้แก๊ส O2 เพื่อสร้างภาพอัตราการใช้ oxygen ของเนื้อสมอง เรียกว่าภาพ Cerebral metabolic rate O2 (CMRO2) และสร้างภาพสัดส่วนการดึงออกซิเจนไปใช้ของเนื้อสมอง หรือภาพ Oxygen extraction fraction (OEF)  และสุดท้ายใช้แก๊ส CO2 เพื่อสร้างภาพอัตราการไหลเวียนของเลือดในสมอง เรียกว่าภาพ Cerebral Blood Flow หรือ CBF  โดยมีวิธีการ คือ การให้แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก่อน 2 นาที เก็บภาพด้วย PET/MRI 8 นาที เว้นระยะ 10 นาที เพื่อให้แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) สลายตัว จากนั้นตามด้วยการให้แก๊สออกซิเจน (O2) 1 นาที เก็บภาพด้วย PET/MRI ตลอดจนจบการตรวจเว้นระยะ 5-7 นาที เพื่อให้แก๊สออกซิเจน (O2) สลายตัว ซึ่งส่วนสำคัญที่มีความซับซ้อนของการตรวจ คือ หากเว้นระยะเวลานานกว่านี้ระหว่างการให้แก๊สทั้งสอง การตรวจจะไม่ได้ผล และสุดท้ายให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 1 นาที แก๊สรังสีที่อยู่ในตัวผู้ป่วยจะสลายตัวไปเองภายใน 20 นาที หลังการตรวจเสร็จสิ้น โดยไม่หลงเหลือในร่างกายและไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ ปริมาณรังสีที่ได้อยู่ที่ประมาณ 3.294 mSv(millisieverts) เทียบเท่ากับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของสมองด้วยสารทึบรังสี 1 ครั้ง และใช้เวลาทั้งหมดในกระบวนการประมาณ 30-40 นาที โดยจะได้ทั้งภาพของแก๊สรังสี และภาพของ MRI เพื่อทำการวินิจฉัยร่วมกัน หลังจากนั้นภาพของแก๊สรังสีจะใช้โปแกรมคำนวณแบบพิเศษเพื่อสร้างภาพในลักษณะต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางชีวภาพการไหลของเลือด การสะสมของเลือด และ การใช้ออกซิเจนของเนื้อสมองออกมาได้เรียกว่า multiparametric imaging

4) 68Ga-ABY-025 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดตัวรับ HER2 สารเภสัชรังสี 68Ga-ABY-025 เป็นนวัตกรรมสำคัญในการประเมินตัวรับ HER2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา โดยตัวยีน HER2 เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ในภาวะปกติ มันช่วยควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ แต่เมื่อมีการแสดงออกมากเกินไป (HER2 Overexpression) จะนำไปสู่การเกิดมะเร็งที่รุนแรงและลุกลามได้เร็ว พบในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณ 20-30% ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่าและตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานได้น้อยกว่า การตรวจหาการแสดงออกของ HER2 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินความรุนแรงของโรคและวางแผนการรักษา ซึ่งแต่เดิมทำได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อในห้องปฏิบัติการ แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดในการประเมินรอยโรคทั้งหมดในร่างกาย สารเภสัชรังสี 68Ga-ABY-025 ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจเพทสแกน ซึ่งสามารถประเมินการแสดงออกของ HER2 ในรอยโรคทั่วร่างกายได้อย่างไม่รุกล้ำ การศึกษาเบื้องต้นพบว่าสารนี้สามารถจับกับรอยโรคที่มีการแสดงออกของ HER2 ได้สอดคล้องกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการการวิจัยนี้ของศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติมุ่งศึกษาความสามารถของ 68Ga-ABY-025 ในการประเมินระดับการแสดงออกของ HER2 ในรอยโรคต่าง ๆ เทียบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งวิธีการตรวจด้วยสารเภสัชรังสีชนิดใหม่นี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการแสดงออกของ HER2 ในรอยโรคทั่วร่างกายได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความจำเพาะเจาะจงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแต่ละราย จึงได้จัดทำโครงการวิจัยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการจับสารเภสัชรังสี 68Ga-ABY-025 จากการตรวจเพทสแกนเทียบกับการแสดงออกของ HER2 ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมขึ้น

5) 18F-SMBT-1 สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะระบบประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) คือโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในผู้สูงอายุโดยเป็นโรคที่ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลอีกด้วย ในปัจจุบันเราไม่สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นโรคพาร์กินสันตามอาการเตือนเหล่านี้ได้ อันเนื่องมาจากการขาดความเฉพาะเจาะจงของอาการเหล่านี้ อาการเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในสัญญาณเตือนที่บอกให้ผู้ป่วยรู้ว่า ระบบประสาทส่วนกลางเริ่มเกิดความเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการเคลื่อนไหวผิดปกติออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอาการที่จะทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน แต่ความเป็นจริงแล้วระดับของโดพาร์มีน (Dopamine) ได้เริ่มลดลงมานานแล้วก่อนหน้าที่อาการจะแสดงออก ดังนั้น จึงมีการผลิต และ ศึกษา สารเภสัชรังสีชนิดใหม่ชื่อ 18F-SMBT-1 ซึ่งเป็นสารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยภาวะระบบประสาทอักเสบ โดยสอดคล้องกับความเข้าใจในปัจจุบันว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อาจเชื่อมโยงถึงการเกิดโรคพาร์กินสันอาจเกิดจากภาวะอักเสบของสมอง ดังนั้น การพัฒนา 18F-SMBT-1 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างเครื่องมือที่สามารถประเมินการอักเสบของสมองในระยะแรกเริ่มก่อนนำไปสู่ภาวะของการเกิดโรคพาร์กินสันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นสารรุ่นล่าสุดในกลุ่มสารเภสัชรังสีที่ใช้ในการตรวจทางเพทสแกนของภาวะสมองอักเสบ ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีการใช้ 18F-SMBT-1 ในการตรวจวินิจภาวะสมองอักเสบในโรคพาร์กินสันอย่างแพร่หลายมาก่อน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติจึงได้มีการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อประเมินความผิดปกติของภาวะอักเสบของสมองในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียบกับอาสาสมัครปกติโดยใช้ 18F-SMBT-1 การศึกษานี้มีความสำคัญเนื่องจากอาจนำไปสู่การพัฒนายาเพื่อลดภาวะอักเสบของสมอง ซึ่งอาจเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในอนาคต

6) 68Ga-Pentixafor สารเภสัชรังสีสำหรับการตรวจวินิจฉัยตัวรับ CXCR-4 การผลิตและศึกษาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ 68Ga-Pentixafor เป็นการตรวจวินิจฉัยทางนิวเคลียร์ที่มีความสำคัญในการประเมินผู้ป่วย 2 กลุ่มโรค 1) ภาวะ hyperaldosteronism คือภาวะที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน aldosterone มากเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูงและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและไตวาย การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญมาก จากการศึกษาที่ผ่านมา 68Ga-pentixafor PET/CT เป็นวิธีการตรวจที่มี ความไว และความแม่นยำสูง ทำให้การตรวจนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าการตรวจด้วย CT ปกติ และช่วยให้แพทย์ตัดสินใจในการรักษาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 2)มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดมาร์จินัลโซน (MZL) และแมนเทิลเซลล์ (MCL) ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินที่พบได้ไม่บ่อยในประเทศไทย โดยสารเภสัชรังสี 68Ga-Pentixafor มีความจำเพาะต่อตัวรับ CXCR4 ซึ่งมีการแสดงออกมากในเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MZL และ MCL คุณสมบัตินี้ทำให้ 68Ga-Pentixafor มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหารอยโรคสูงกว่าวิธีมาตรฐานอย่าง 18F-FDG ซึ่งอาศัยการจับกับเซลล์ที่มีอัตราการเผาผลาญน้ำตาลสูง แม้ว่า 18F-FDG PET/CT จะเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจหามะเร็งหลายชนิด แต่มีข้อจำกัดสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MZL และ MCL เนื่องจากมะเร็งเหล่านี้มักมีอัตราการเจริญเติบโตช้า ทำให้มีการใช้น้ำตาลในระดับต่ำ ส่งผลให้การสะสมของ FDG ไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ชัดเจน นอกจากนี้ FDG PET/CT ยังมีความไวและความจำเพาะต่ำ อาจให้ผลลบลวงได้บ่อย โดยเฉพาะในรอยโรคขนาดเล็กหรือในระยะเริ่มต้น จากการศึกษาเปรียบเทียบที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า 68Ga-Pentixafor PET/CT มีประสิทธิภาพเหนือกว่า 18F-FDG PET/CT อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยส่งผลต่อการวินิจฉัยระยะของโรคในผู้ป่วยร้อยละ 50 ความแม่นยำที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลโดยตรงต่อการวางแผนการรักษา โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาในผู้ป่วยถึงร้อยละ 33 ความสามารถในการตรวจพบรอยโรคได้ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด หรือการใช้ยามุ่งเป้า การประเมินระยะของโรคที่แม่นยำช่วยให้แพทย์สามารถปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติจึงได้จัดทำโครงการวิจัยการศึกษานำร่องเปรียบเทียบประสิทธิภาพการวินิจฉัยระหว่างการถ่ายภาพรังสีด้วยสารเภสัชรังสี 68Ga-Pentixafor PET/CT และ 18F-FDG PET/CT ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Marginal Zone lymphoma Cell lymphoma ดังกล่าว

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางด้านวิชาการเพื่อหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยได้รับการรับรองให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติที่เรียกว่า Earl Accreditation สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วย PET/CT แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และ PET/MRI แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียจากสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งยุโรป โดยให้การรับรองมาตรฐานคุณภาพสำหรับการสร้างภาพวินิจฉัยด้วยเครื่อง PET ในด้านคลินิกและด้านวิจัยที่มีมาตรฐานร่วมกันระหว่างอเมริกาและยุโรปเพื่อยกระดับการวิเคราะห์ผล แปลผลและการเตรียมตัวผู้ป่วยตามมาตรฐานระดับสูงในระดับนานาชาติ แสดงถึงการเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติ เป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศในการทำงานวิจัยร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยมและมีเครือข่ายความร่วมมือกับหลายสถาบันทั่วโลก อาทิ สวีเดน ฟินแลนด์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยหนึ่งในหน่วยงานที่ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็น Reference site ให้ในการทำงานวิจัยร่วมกัน คือ บริษัท Siemens Healthineers  โดย Chris Poray, Managing Director of Siemens Healthineers Thailand ได้กล่าวแสดงความยินดีถึงความสำเร็จในการเป็นผู้นำด้านการผลิตสารเภสัชรังสีและความร่วมมือระหว่าง Siemens Healthineers กับศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติในโครงการวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์ด้านภาพวินิจฉัยและกระบวนการวิเคราะห์ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพผู้ป่วยทั่วโลก นอกจากนี้ Siemens Healthineers ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ของทางศูนย์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการถ่ายภาพสมองโดยการใช้แก๊สรังสี โดยมีเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษานำไปสู่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเป็นประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลกต่อไปในอนาคต

นอกจากภารกิจด้านการผลิตสารเภสัชรังสี ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ยังเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเครื่องมือด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบครบวงจรทั้ง PET/CT , PET/MRI และ SPECT/CT เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยแก่ผู้ป่วยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยภายในงานได้แถลงเปิดตัวเครื่อง SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุดที่นำมาติดตั้งทดแทนเครื่องเดิมและเริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ชั้น B1 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ SPECT/CT เป็นเครื่องมือถ่ายภาพรังสีแกมม่าที่ผสานเทคโนโลยีจากเครื่อง CT เพื่อให้ได้ภาพสแกน และภาพอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่สามารถบอกตำแหน่งรอยโรคได้อย่างชัดเจน และช่วยให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดย SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการสร้างภาพ SPECT และเป็นเครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่าที่ผสานเทคโนโลยี CT 64 สไลด์เครื่องแรกของประเทศไทยทำให้ถ่ายภาพความละเอียดสูง สามารถบอกตำแหน่งรอยโรคได้อย่างชัดเจน และช่วยทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำมากขึ้น พร้อมทั้งมีระบบขั้นสูงในการแก้ไขการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ ทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้น สามารถทำ daily QC ได้โดยอัตโนมัติ ช่วยประหยัดเวลาและลดข้อผิดพลาด มีระบบ Zone Map โปรแกรมที่ใช้แยกชนิดของเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น Cortical bone, spongious bone, soft tissue, อากาศ, ไขมัน, และโลหะ เพื่อนำไปประมวลผลให้ได้ภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ช่องรับรังสีแกมม่ากว้างขึ้น เปรียบเสมือนกล้องถ่ายรูปที่มีรูรับแสงกว้างขึ้นทำให้เก็บภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นการถ่ายภาพในที่แสงน้อยให้สวย รวมถึงลดปริมาณการใช้สารเภสัชรังสีที่ต้องฉีดเข้าไปในตัวผู้ป่วยด้วย มีระบบการลดภาพเบลอจากเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ เปรียบเสมือนโปรแกรมกันสั่นของกล้องถ่ายรูป มีระบบ AI: Alpha Technology ช่วยในการประมวลผลภาพทั้งการวาดของเขตและการระบุตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นในการตรวจผู้ป่วยได้หลากหลายตอบสนองความต้องการทางคลินิก โดยสรุปคุณสมบัติของ SPECT/CT Symbia Pro.Specta รุ่น X3 ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การสแกนเร็วขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับทั้งผู้ป่วยและแพทย์

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ความเป็นเลิศที่บูรณาการนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอน สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยมาตรฐานการผลิตยาตาม GMP PIC/S และมาตรฐานการกระจายยาตาม GDP PIC/S และการให้บริการตรวจด้วยเครื่องเพทสแกน โดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงไปใช้ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม โดยผู้ป่วยสามารถนัดหมายผ่านทาง LINE @petscanchulabhorn หรือโทรนัดหมายที่เบอร์ 096-091-8369 เปิดให้บริการทุกวันเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง PET และ SPECT/CT พร้อมรองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ สนองพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ผู้ทรงวางรากฐานการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย และการแพทย์นานัปการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

เปิดบริการในอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

มีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 3 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้น 1 เป็นพื้นที่ต้อนรับและลงทะเบียนเข้ารับบริการ และมีส่วนปฏิบัติการผลิตสารเภสัชรังสีที่ตั้งอยู่ในโซนอาคารส่วนต่อขยายที่ออกแบบเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับงานผลิตสารเภสัชรังสีซึ่งต่อเติมมาจากอาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติเดิม โดยแบบแปลนการก่อสร้างได้รับการอนุมัติจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้เป็นสถานที่การผลิตยา ประกอบด้วย ห้องไซโคลตรอนที่ติดตั้งเครื่องไซโคลตรอนเครื่องที่สองด้วยรุ่น HM-20S แบบ Self-shielded โดยมีกำลังการผลิตสารเภสัชรังสีที่สูงขึ้น และมีกำลังการผลิตไอโซโทปรังสีชนิดใหม่ได้หลากหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ค้นคว้าพัฒนาสารเภสัชรังสีชนิดใหม่ที่มีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทที่สร้างภาพการทำงานในระดับเซลล์ และมีความสำคัญต่อการช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยวางแผนการรักษา รวมทั้งการติดตามผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนนี้มีการแยกพื้นที่สำหรับการสังเคราะห์สารเภสัชรังสีออกเป็นพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตสั้น หรือ Short-lived hot lab และพื้นที่สำหรับผลิตสารเภสัชรังสีไอโซโทปค่าครึ่งชีวิตยาว หรือ Long-lived hot lab เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างกัน และพื้นที่การผลิตแต่ละห้องจะมีการติดตั้งตู้ปฏิบัติการรังสีสูง หรือ Hot cells ซึ่งเป็นตู้ตะกั่วเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการควบคุมระดับความสะอาด ความดัน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ การขนส่งสารเภสัชรังสีสำหรับให้บริการแก่ผู้ป่วย ต้องบรรจุในภาชนะที่ปราศจากเชื้อ และบรรจุลงในถังที่มีเครื่องกำบังรังสี ที่มีการติดฉลากและติดป้ายกำกับทางรังสีตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการกระจายยาตาม GDP และหลักการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีตามข้อกำหนดของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

ชั้น M เป็นส่วนของการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพท บูรณาการสู่การเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมด้านภาพวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงครบจบในแห่งเดียว ประกอบด้วย โซนการฉีดสารเภสัชรังสีซึ่งก่อนที่จะทำการตรวจด้วยเครื่องเพท ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยมีเครื่องแบ่งสารเภสัชรังสีแบบอัตโนมัติที่จะคำนวนปริมาณความแรงรังสีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมอุปกรณ์ฉีดสารเภสัชรังสีอัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีให้กับผู้ปฏิบัติงาน และโซน PET IMAGING ที่มีให้บริการทั้งเครื่อง “PET/MRI (เพท-เอ็มอาร์ไอ) Biograph mMR 3 Tesla” เปิดให้บริการเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติของเครื่องที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างภาพวินิจฉัยเพื่อการตรวจรอยโรคขนาดเล็กและอวัยวะที่ซับซ้อนได้แม่นยำและถูกต้อง อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ มะเร็งสมอง มะเร็งนรีเวช มะเร็งศีรษะและลำคอ และเครื่อง “Digital PET/CT (ดิจิทัล-เพท-ซีที) Biograph Vision 600 Edge” เปิดให้บริการเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี พ.ศ. 2565 เพื่อนำมาเสริมประสิทธิภาพและรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ลดระยะเวลาในการรอคอยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการวางแผนการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ชั้น 2 เป็นพื้นที่การให้บริการสำหรับทีมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในการแปลผลภาพวินิจฉัยนอกจากนี้ การออกแบบตกแต่งภายในศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ฯ เสือ เพื่อนำมาใช้ในการตกแต่งห้องตรวจวินิจฉัยและห้องให้การรักษาสำหรับผู้ป่วย ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ไม่เกิดภาวะเครียดขณะที่กำลังฉีดสารเภสัชรังสี หรือขณะที่เครื่องเพทกำลังทำงาน และเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยให้มีจิตใจเข้มแข็งต่อไป