รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ประชุมทางไกลหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัด กำชับติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชน หลังน้ำลดให้เร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูสถานพยาบาล สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย และเฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม
วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กับผู้บริหารหน่วยงานในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงภัยที่มาหลังน้ำท่วม เป็นอย่างมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมยาและเวชภัณฑ์ สำรวจกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง และป้องกันสถานพยาบาลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดูแลประชาชนทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาล ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ และในศูนย์พักพิง รวมทั้งส่วนกลางและจังหวัดข้างเคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบยังได้เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่น้ำลด/สถานการณ์คลี่คลาย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ได้เน้นให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย ฟื้นฟูสถานพยาบาล และเฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม เช่น อุจจาระร่วง ฉี่หนู ตาแดง รวมถึงให้คำแนะนำกับประชาชนในการสังเกตอาการ โดยภาพรวมยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย เลย บึงกาฬ นครพนม สตูล และพะเยา สถานบริการสาธารณสุขยังเปิดให้บริการได้ปกติทุกแห่ง มีการเปิดศูนย์พักพิงดูแลประชาชนรวม 57 แห่ง ที่ เชียงราย เชียงใหม่ เลย หนองคาย บึงกาฬ และพะเยา ผู้รับบริการ
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวม 17,848 คน ส่วนด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 ให้การดูแล 23,212 คน พบภาวะเครียดสูง 548 คน เสี่ยงซึมเศร้า 81 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 12 คน ส่งต่อพบแพทย์ 133 คน ทั้งหมดได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เร่งผลิตยา “บาทาพิทักษ์” ซึ่งเป็นยารักษาโรคน้ำกัดเท้า จากสมุนไพรทองพันชั่ง ขมิ้นชัน พญายอ และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้สนับสนุนยาช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว ดังนี้ ยาบาทาพิทักษ์ 25,484 ขวด สเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง 9,000 ขวด ยานวดไพล 500 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมอบชุดผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่จำเป็นในช่วงอุทกภัย ได้แก่ กลุ่มแก้อาการไข้ เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาห้าราก ยาประสะจันทร์แดง ยาจันทลีลา, ยาปราบชมพูทวีป บรรเทาอาการหวัด แพ้อากาศ, ยามันฑธาตุ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ, ยาธาตุบรรจบ แก้อาการท้องเสีย ชนิดไม่ติดเชื้อ รวมทั้งสิ้น 28,250 ชุด