สศท.ชวนสัมผัส “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” สืบสานคุณค่างานหัตถกรรมใกล้สูญหาย ในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. มุ่งมั่นสืบสานภูมิปัญญา สะท้อนคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทย รวบรวมหัตถกรรมทรงคุณค่า หาชมยาก และใกล้จะสูญหาย ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ในโซน “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” จัดแสดงในรูปแบบ Live Exhibition เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้สัมผัสความงดงามในงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างใกล้ชิด ด้วยการสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์

โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ งานประดับมุกโบราณ โดย ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2564 ครูผู้สืบสาน อนุรักษ์งานประดับมุก ที่มีความวิจิตรบรรจง, งานเครื่องรัก โดยครูมานพ วงศ์น้อย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2558 ครูผู้อนุรักษ์การทำงานเครื่องรักแบบโบราณที่ผสมผสานการทำงานเครื่องรักร่วมสมัย สร้างสรรค์ผลงานด้วยการใช้ “เปลือกไข่” และ “ฝาหอยมุก” ในการตกแต่งพื้นผิวงานรัก เกิดเป็นงานเครื่องรักรูปแบบใหม่, ว่าวเบอร์ฮามัส โดยครูไวโรจน์ วานิ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2566 ครูผู้สืบเชื้อสายมาจากช่างหลวงสายบุรี จังหวัดปัตตานี ผู้มุ่งมั่นสืบสานการทำว่าวเบอร์อามัส หรือว่าวทองแห่งมลายู ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น, งานดอกไม้ไหว โดยคุณสุวิจักขณ์ จุมปู ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2566 ผู้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ ลงบนเครื่องประดับล้านนา นำมาประยุกต์ให้มีความพลิ้วไหว ราวกับดอกไม้ มีความงดงาม และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผู้ที่สนใจสามารถชื่นชมงานหัตถกรรมจากช่างฝีมือไทยอีกมากมายได้ที่งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์