กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทลงพื้นที่ดูแลจิตใจประชาชนหลังเกิดพายุโพดุล ที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
วันที่ 4 กันยายน 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนจากการได้รับผลกระทบพายุโพดุล ว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดสภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และมีปัญหาสุขภาพจิตได้นั้น เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ทางกรมสุขภาพจิต จึงได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยพายุโพดุล โดยได้รับรายงานจากทีมสุขภาพจิต เอ็มแคทที่ลงพื้น ที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบมีศูนย์พักพิงทั้งหมด 7 แห่ง ไม่นับรวมเต็นท์พักพิงชั่วคราวที่จัดตั้งริมถนน ประมาณการผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2,000 ครัวเรือน แม้เข้าสู่ช่วงน้ำลดแล้ว แต่ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ได้จัดบริการตั้งรับปฏิบัติงานที่ศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อ.บ้านไผ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ล้อมรอบด้วยศาลาประชาคม โรงเรียน และวัด ซึ่งถูกจัดให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว และจัดบริการดูแลสุขภาพจิตเชิงรุก โดยการลงพื้นที่เยี่ยมคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บ้านหนองน้ำใส ต.หนองน้ำใส บ้านกุดเปล่ง ต.บ้านไผ่ และบ้านดอนชาติ ต.หนองน้ำใส อ.บ้านไผ่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า มีจำนวนผู้มารับบริการคัดกรองปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งหมด 80 คน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ต้องได้รับการติดตามต่อเนื่อง ร้อยละ 8.75 และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์ น้ำท่วม ร้อยละ 1.25 โดยทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทได้วางแผนประสานการทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตรพ.บ้านไผ่ ในการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในขณะลงพื้นที่ในเขตที่มีน้ำท่วม ได้ดำเนินการแจกจ่ายถุงยังชีพของกรมสุขภาพจิตแก่ประชาชน จำนวน 50 ชุดด้วย นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำให้ประชาชนช่วยดูแลสภาพจิตใจกันและกันของคนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนบ้าน โดยใช้หลัก 3 ส. ในการปฐมพยาบาลทางใจ คือ 1. สอดส่องมองหา (Look) ขอให้ช่วยกันสังเกต มองหาผู้ประสบภัย ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่มีความโศกเศร้าเสียใจ เครียด วิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ 2. ใส่ใจรับฟัง (Listen) ให้เข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ พร้อมรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยได้พูดระบายคลายความทุกข์ในใจออกมา และ 3. ส่งต่อ (Link) หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง ให้ติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง