สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. สืบสานมรดกภูมิปัญญา ควบคู่การส่งต่อคุณค่าในงานศิลปหัตถกรรมไทย ยกย่องเชิดชูเกียรติ “ครูธนเดช บุญนุ่มผ่อง” เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2567 งานเรือฉลอมจิ๋ว ที่จำลองมาจากเรือประมงพื้นบ้านที่สูญหายไปจากวิถีชีวิตของชาวเล ให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง มีความเสมือนจริง ส่งต่อคุณค่าและภูมิปัญญางานหัตถกรรมเป็นของระลึก และเสริมบารมี
ครูธนเดชฯ กล่าวว่า มีความหลงใหลในการต่อเรือมาตั้งแต่เด็ก เพราะเกิดมาในครอบครัวชาวประมง ได้เห็นคุณตาประดิษฐ์เรือขาย โดยได้ตั้งชื่อว่า “เรือโป๊ะ” หรือ “เรือฉลอม” ซึ่งในอดีตนิยมใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือบรรทุกสินค้าไปขายตามหัวเมืองชายทะเล รูปร่างลำเรือมีประทุนโค้งกลางลำทำจากไม้ไผ่สานขัดแตะมุง เรือฉลอมเป็นเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนโดยใช้ลม และใบเรือในการแล่นเรือ ปัจจุบันเรือฉลอมแทบไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว ครูธนเดชฯ จึงมีความต้องการรักษาภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิม จึงได้สืบสานการต่อเรือจิ๋ว และเรียนรู้ฝึกฝนนานกว่า 3 ปี จึงจะสามารถสร้างสรรค์เรือออกมาได้อย่างสวยงาม สมจริง จนได้รับการยอมรับว่าสามารถต่อเรือจิ๋วได้สัดส่วนใกล้เคียงกับเรือฉลอมจริงอย่างมาก และยังได้ประยุกต์การทำเรือฉลอมจากเดิมที่ใช้ตะปูติดสัดส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดสนิม จึงเปลี่ยนมาใช้ไม้ไผ่เหลาให้เป็นเส้นเล็กๆ แล้วนำมาประกอบสัดส่วนต่าง ๆ แทนตะปู ทั้งหมดต้องอาศัยทักษะเชิงช่างในด้านงานไม้ โดยเริ่มจากเตรียมไม้สักให้ได้ขนาดตามแบบเรือ จากนั้นประกอบตัวเรือตามสัดส่วนที่ได้จำลองมา โดยเริ่มต้นจากการขึ้นกระดูกงูที่จะเชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ ของเรือเข้าด้วยกัน ต่อด้วยการสอดโขนหัว โขนท้ายเรือของลำเรือ โดยขั้นตอนนี้จะทำพิธีอัญเชิญแม่ย่านางเช่นเดียวกับพิธีกรรมแบบดั้งเดิมเพราะเปรียบเหมือนขวัญของเรือ และสุดท้ายทำการประกอบเรือส่วนต่าง ๆ ทาสี และเคลือบให้มีความเงางาม สมจริงทุกประการ
นอกจากนี้ เรือฉลอมจิ๋วที่ครูสร้างสรรค์ขึ้นจะเป็นเรือฉลอมมงคลที่สัดส่วนทุกชิ้นลงท้ายด้วยเลข 9 หรือเมื่อนำมาบวกกันแล้วจะได้ผลลัพธ์เป็นเลข 9 ได้แก่ กาบเรือใช้ประกอบฝั่งละ 9 แผ่น ไม้ทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบเรือทั้งหมด 27 แผ่น ความยาวเรือลำใหญ่มีขนาด 54 เซนติเมตร และเรือขนาดเล็กมีความยาว 36 เซนติเมตร เป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว ที่ครูธนเดชฯ ได้ยึดการสร้างสรรค์เรือฉลอมจิ๋วเป็นอาชีพ โดยตั้งปณิธานที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปรู้จักเรือฉลอมมากยิ่งขึ้น เพราะเรือฉลอมนั้นแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงในอดีต และได้สูญหายไปจากท้องทะเลหัวหินมาเนิ่นนาน เพื่อเป็นการรักษามรดกทางภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมต่อเรือจิ๋วให้คงอยู่สืบต่อไป