ม.อ. ร่วมกับ หัวเว่ย เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที ยกระดับการศึกษาและนวัตกรรมในเอเชียแปซิฟิก

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที (PSU ICT TALENT DEVELOPMENT and INNOVATION CENTER) ณ วิทยาเขตตรัง โดยมีนายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ดร.สุธิภรณ์ ตรึกตรอง รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง คณะผู้บริหาร ม.อ. นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ซึ่งศูนย์แห่งนี้พร้อมให้บริการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่สถาบันการศึกษาในภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับศูนย์ดังกล่าวมีหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน ICT และแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมให้กับอาจารย์และนักศึกษาของ ม.อ. ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G, Cloud, IoT และ Big Data ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์จากโซลูชันจริง ประกอบด้วยห้องเรียนเทคโนโลยีเฉพาะทาง 6 ห้อง รวมถึงห้องเรียนด้าน Datacom, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ความปลอดภัยเครือข่าย, Cloud & AI, Server และระบบจัดการเครือข่ายรวมศูนย์

ศูนย์นวัตกรรมนี้ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์จริง และมีหลักสูตรที่ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น HCSA-Presales-Service ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานและนโยบายการขายเกี่ยวกับโซลูชันเครือข่าย การสนับสนุนการดำเนินงาน และการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมและการบูรณาการแอปพลิเคชัน ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้สอนหลักสูตร และนักศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์จริงภายในศูนย์ ซึ่งจะส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในอนาคต

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ มุ่งผลลัพธ์ที่จะสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที และเป็นหลักสูตรที่ล้ำสมัยที่สุดที่จะร่วมยกระดับสมรรถนะตลาดแรงงานด้านไอซีทีในเอเชียแปซิฟิก ผ่านหลักสูตรและการรับรองจากศูนย์แห่งนี้ ด้วยพันธกิจในการสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการ นวัตกรรม และสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะ มหาวิทยาลัยจึงมีแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเตรียมนักศึกษาทั้งในสาขาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมและพัฒนาทักษะ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ ความร่วมมือระหว่าง ม.อ. กับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์สูงสุดและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต

“เป้าหมายการสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที คือ การสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ผ่านการอบรมหลักสูตร การฝึกฝน และใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพการงาน มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ให้กับนักศึกษาของสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งในภาคใต้และทั่วอาเซียน เพื่อให้นักศึกษาได้ประโยชน์และได้รับความรู้ที่ล้ำสมัยจากศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ผศ. ดร.นิวัติ กล่าว

นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง ม.อ. และหัวเว่ย เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับมหาวิทยาลัยการนำโครงสร้างพื้นฐาน ICT ขั้นสูงและทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในระบบการศึกษาของ ม.อ. จะทำให้ศูนย์นี้เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาได้ เป็นโอกาสในการเพิ่มทักษะและความสามารถทางดิจิทัลสำหรับอาจารย์และนักศึกษา โดยการผสมผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเข้ากับหลักสูตร นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความคล่องตัว และเหมาะสมกับความท้าทายในอนาคต

ความร่วมมือนี้ยังเป็นการต่อยอดแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของหัวเว่ยในอาเซียน (Huawei ASEAN Academy Thailand) ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยกว่า 40 แห่ง เพื่อพัฒนาศูนย์กลางบุคลากรด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 96,200 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT จำนวน 72,000 คน นักพัฒนา Cloud และ AI ขั้นสูง 8,000 คน วิศวกรด้านพลังงานสีเขียว 2,000 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน SME และสตาร์ทอัพ 3,500 คน พร้อมทั้งยังช่วยฝึกอบรมฟรีให้กับนักศึกษาและประชาชนในชนบท 6,000 คน