ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตกุ้งทะเลที่สำคัญ แต่จากข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การผลิตกุ้งทะเลของไทยลดปริมาณลงเป็นอันมาก แต่กระนั้นก็ตามไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกในระดับต้น ๆ ของโลกที่หลายประเทศให้ความสนใจและจับตามอง
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการแข่งขันทางการค้าของ “กุ้งทะเล” ที่สูงมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เมื่อมี “ข่าว” ไม่ว่าในทิศทางใดจะกระตุ้นความสนใจ และพร้อมที่จะ “แชร์” ต่อไปอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง จะเห็นได้จากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มี วีดีโอ ที่เผยแพร่ออกมาใน YouTube โดยองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรของประเทศเยอรมัน หัวข้อเรื่อง “The dirty business with the shrimp” ซึ่งงานสารคดีชิ้นนี้นำเสนอภาพที่เป็นลบกับการเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศไทย ที่จะทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเข้าใจผิดต่อภาพลักษณ์กุ้งทะเลของไทย โดยข้อมูลทั้งหมดเป็น “เรื่องเก่า” ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แม้แต่ Dr. David Bassett, Program Manager ของ EURASTiP หรือ The European Asian Aquaculture Technology and Innovation Platform ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืน ยังได้มีคำแถลงในงาน Aquaculture in Thailand: Challenges and opportunities for Europe เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ถึงวีดีโอดังกล่าวว่า
“…. วิดีโอที่ทำใหม่เป็นภาคภาษาอังกฤษชุดนี้ เป็นชุดเดียวกันกับ “Schmutizge shrimps–dirty shrimp in German” ซึ่งเผยแพร่ในเยอรมันเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งมันหมายความว่า นอกจากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเท็จแล้ว วิดีโอการนำเสนอครั้งนี้ยังเป็นข้อมูลที่ล้าสมัย โดยเฉพาะประเด็นการกล่าวอ้างว่า พื้นที่ป่าชายเลนของไทยถูกทำลายล้างด้วยฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล มีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีที่ผิดวิธี มีการปล่อยน้ำทิ้งที่ทำความเสียหายแก่แม่น้ำลำคลองและสร้างมลพิษเป็นอันตรายกับเด็กที่ไปว่ายน้ำบริเวณนั้น รวมทั้งการจ้างแรงงานผิดกฎหมายจากเมียนมาร์ และเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องสร้างสรรค์เลย ไม่มีการพูดถึงสิ่งที่รัฐบาลไทย รวมทั้งสมาคมกุ้งทะเลต่างๆ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้พยายามร่วมมือกันมาโดยตลอดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยมีความยั่งยืน…” และ EURASTiP ยินดีที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อต่อต้านข้อมูลและเนื้อหาที่เป็นเท็จในวิดีโอชุดนี้ Dr. David Bassett กล่าวทิ้งท้าย
และในฐานะประเทศไทย กรมประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล และผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิต ขอขอบคุณ EURASTiP ผู้นำเข้า และผู้บริโภคทั่วโลกที่เชื่อมั่น “อุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย” ตลอดมา และยืนยันว่า อุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืน” และขอความร่วมมือทุกท่านในการหยุดยั้งการ “แชร์” วีดีโอที่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จชุดนี้ และช่วยกัน “เผยแพร่” และ “นำเสนอ” ข้อมูลที่ถูกต้อง หากท่านใดต้องการข้อมูลการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ติดต่อประสานขอข้อมูลที่กรมประมงได้ตลอดเวลา อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายในที่สุด
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
4 กันยายน 2562