วันที่ 14 กันยายน 2567 เวลา 08.00 น. การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์และพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันบุรฉัตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดยมีนายศันสนะ สุริยะโยธิน กรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยราชสกุลฉัตรไชย คณะผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟฯ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมพิธีฯ ณ ตึกบัญชาการรถไฟ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันบุรฉัตร ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กันยายน ของทุกปี การรถไฟฯ ได้มีการจัดพิธีสวดพระพุทธมนต์อุทิศถวายเป็นพระกุศล และพิธีวางพวงมาลา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชร อัครโยธิน อดีตผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ที่ได้รับการยกย่องเป็นพระบิดาแห่งกิจการรถไฟยุคใหม่ ตลอดจนพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ที่มีต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมบริจาคสมทบทุน “บุรฉัตรมูลนิธิ” เพื่อนำไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลอีกด้วย
ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2567 โดยมีนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานมอบเกียรติบัตร และกล่าวขอบคุณผู้เกษียณอายุราชการที่ตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และความมุ่งมั่น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินภารกิจของการรถไฟฯ ให้ประสบผลสำเร็จ ลุล่วงด้วยดีเสมอมา
สำหรับพระประวัติของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ระหว่างปี พ.ศ. 2460-2469 ซึ่งตลอดเวลาพระองค์ทรงวางรากฐานกิจการรถไฟให้เจริญรุดหน้าในหลายด้าน โดยทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงาน อาทิ ทรงริเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข
พร้อมทั้งทรงวางแผนและดำเนินการนำรถจักรดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ ตลอดจน ทรงควบคุมการก่อสร้างสะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมการเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน ทรงควบคุมงานขุดอุโมงค์ขุนตาน ก่อสร้างสะพานทาชมภู รวมถึงทรงจัดสร้างทางรถไฟสายตะวันออก จากจังหวัดฉะเชิงเทราไปยังอรัญประเทศเพื่อติดต่อกับอินโดจีน จึงนับได้ว่าพระดำริของพระองค์ ทำให้กิจการรถไฟไทยมีความเจริญรุดหน้าและทัดเทียมนานาอารยประเทศ และสร้างคุณาประโยชน์แก่ประเทศชาติ ตลอดจนประชาชนคนไทยอย่างมหาศาลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน