นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 พร้อมยกเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการในทุกมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้คลี่คลายโดยเร็ว โดยเฉพาะมาตรการที่ 3 และมาตรการที่ 6 ซึ่งได้มอบหมายให้นักวิจัยของกรมประมงเร่งหาแนวทางการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำที่ถูกกำจัดไปใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของตัวปลา โดยเฉพาะส่วนก้างที่ใหญ่และมีความแข็ง ไม่สามารถรับประทานโดยการปรุงเป็นเมนูอาหารแบบทั่วไปได้ อีกทั้งเพื่อไม่ก่อให้เกิดเศษเหลือทิ้งที่อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในอนาคต
นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนายการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กล่าวให้รายละเอียดว่า ปลาหมอคางดำมีส่วนที่เป็นเนื้อที่สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง ประมาณร้อยละ 30-35 ซึ่งปัจจุบันทางกองฯ ได้แปรรูปเป็นเมนูอาหารทั้งแบบพร้อมบริโภค พร้อมปรุง และขนมขบเคี้ยวได้หลากหลาย โดยในกระบวนการแปรรูปเหล่านี้ยังมีเศษเหลือทิ้งอื่น ๆ เช่น หัว ไส้ เครื่องใน ครีบ และก้างปลา ซึ่งล่าสุดคณะผู้วิจัยจากคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) ได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากก้างปลาหมอคางดำ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้บริโภค และช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยจากแนวคิดที่ว่าปลาชนิดนี้มีแคลเซียมและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากพัฒนากระบวนการสกัดแคลเซียมด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพและไม่ทำลายคุณค่าทางโภชนาการของปลา จะทำให้สารดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาจดีกว่าแคลเซียมจากแหล่งอื่น เช่นเดียวกับนักวิจัยของกองฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงแนวทางการนำก้างปลาไปสกัดแคลเซียม จึงได้พัฒนาวิธีสกัดแคลเซียมผงด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสามารถแปรรูปได้อย่างง่ายในครัวเรือน รวมถึงส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางนำไปต่อยอดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยใช้กระบวนการให้ความร้อนในน้ำเดือดนาน 1 ชั่วโมง จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อแยกส่วนเนื้อออกแล้วนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส และบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สามารถผลิตผงแคลเซียมได้ประมาณร้อยละ 20–25 จากเศษก้างปลาที่นำมาสกัด ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประมงได้นำมาทดลองใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ เช่น ปั้นขลิบเสริมแคลเซียม ครองแครงเสริมแคลเซียม ข้าวเกรียบปลาเสริมแคลเซียม และปลาบดแผ่นเสริมแคลเซียม ซึ่งสามารถเพิ่มคุณค่าทางอาหารได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะต่อไปภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี พ.ศ. 2567 – 2570 กรมประมงจะเร่งต่อยอดคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากส่วนเศษเหลือทิ้งอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด ตามมาตรการที่ 3 และมาตรการที่ 6 เพื่อใช้เป็นอาหารเสริม หรือสารเสริมอาหารสำหรับการบริโภค รวมทั้งเป็นส่วนผสมของขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคต่าง ๆ
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถศึกษาวิธีการแปรรูปและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำของกรมประมงได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/industry และ Facebook Page: กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ในรูปแบบ E-book และ Infographic รวมทั้งสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมผ่านช่องทางโทรศัพท์ โทร 02 940 6130 – 45 ต่อ 4320 และ 4213