อ.อ.ป. จับมือ SCGCBM สร้างความรู้ ‘ประโยชน์การใช้ไม้ไทย’ … หวังต่อยอดสร้างความต้องการใช้ไม้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภายในประเทศและส่งออก

วันที่ 12 กันยายน 2567 นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนายกฤษณ์ จินดาวานิชสกุล Head of Innovation and Automation Management บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCGCBM) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ภายใต้ โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมก่อสร้างโครงสร้างไม้ โดยการนำไม้ไทยไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไม้โครงสร้าง ประจำปี 2567 ณ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมก่อสร้างโครงสร้างไม้ โดยการนำไม้ไทยไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไม้โครงสร้าง ประจำปี 2567 เป็นการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไม้จากป่าปลูกภายในประเทศไทย โดย อ.อ.ป. – SCGCBM จะร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ไม้ไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ตลอดจนร่วมกันส่งเสริม ผลักดัน และสร้างความต้องการการใช้ไม้ไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกประเทศ และแบ่งปันความรู้ในการทดสอบคุณสมบัติไม้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ในอนาคต นำมาผลิตเป็นสินค้าใช้ในการก่อสร้างให้สามารถแข่งขันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อให้เกิดระบบป่าไม้แบบยั่งยืนตามนโยบายเรื่อง Sustainability ของประเทศไทย

อ.อ.ป. – SCGCBM ได้แบ่งความร่วมมือออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ความร่วมมือในระยะสั้น จะมุ่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) โดยการร่วมมือพัฒนาปรับปรุงและทดสอบคุณสมบัติของไม้ไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในด้านราคาและคุณภาพของไม้ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ทั้งในและภายนอกประเทศ ซึ่งไม้ที่คาดว่าจะนำมาศึกษา ได้แก่ ยูคาลิปตัส กระถินลูกผสม สักตัดสาง ยางพารา หรือไม้ประเภทอื่นๆ และความร่วมมือในระยะยาว หากความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ประสบความสำเร็จ อ.อ.ป. – SCGCBM จะร่วมกันผลักดันการใช้ไม้ไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไปในอนาคต

จากการร่วมลงนามฯ ในครั้งนี้ อ.อ.ป. – SCGCBM มุ่งหวังว่า โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมก่อสร้างโครงสร้างไม้ โดยการนำไม้ไทยไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไม้โครงสร้าง ประจำปี 2567 จะสามารถทำให้เกิดองค์ความรู้ในด้านการใช้ประโยชน์ของการใช้ไม้ไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนสามารถสร้างโอกาส และความต้องการการใช้ไม้ไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่างประเทศต่อไป…