เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 เจ้าหน้าที่กลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพทีมวิทยากรครอบครัวระดับจังหวัด และคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดแพร่ โดยมีนางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ (พมจ.แพร่) เป็นประธานในโครงการ และมีนางวัลลภา ธนู ประสิทธิ์วัชรากร หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยในกิจกรรมโครงการมีวิทยากร และผู้เข้าร่วม จำนวน 60 คน ณ ห้องนคราพาวิเลียน ชั้น 2 โรงแรมแพร่นครา จังหวัดแพร่
โดยโครงการพัฒนาศักยภาพทีมวิทยากรครอบครัวระดับจังหวัด และคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดแพร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทีมวิทยากรครอบครัวระดับจังหวัดและศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการในการพัฒนาครอบครัวในชุมชน ตลอดจนให้ทีมวิทยากรครอบครัวระดับจังหวัดและศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ได้เรียนรู้เครื่องมือในการพัฒนาครอบครัว สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็งได้ โดยภายในกิจกรรม ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ เรื่องกระบวนการขับเคลื่อนกลไกชุมชนเพื่อส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็งภายใต้แนวคิดชุมชนนำ และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม, กระบวนการกลุ่ม เพื่อทบทวนบทเรียนการทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนในด้านกระบวนการทำงาน, การแบ่งกลุ่ม เพื่อฝึกปฏิบัติเรียนรู้เครื่องมือทำงานกับชุมชน และการแบ่งกลุ่ม ออกแบบแนวทางในการขับเคลื่อนงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เป็นองค์กรภาคประชาชน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางและกลไกในการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาครอบครัว โดยมีการบริหารจัดการในรูปของคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนองค์กร กลุ่ม เครือข่ายครอบครัวในชุมชน เป็นสมาชิกโดยการส่งเสริม และสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จึงถือเป็นกลไกระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับสถาบันครอบครัว เปรียบเสมือนทัพหน้าที่คอยเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตมากขึ้น รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่อย่างทันท่วงทีและตรงกับความต้องการของครอบครัวมากที่สุด เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัญหาครอบครัวที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จำเป็นต้องมีทีมคนทำงานในพื้นที่ที่มีความหลากหลายสาขาอาชีพ มีกระบวนการในการสร้างเรียนรู้ให้กับทีมงานและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มีความรู้เชิงประเด็นที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่เข้ามากระทบกับครอบครัว มีเครื่องมือในการทำงานในพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์ หรือสภาพปัญหาของครอบครัวอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างพลังเครือข่ายคนทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน อันจะเกิดให้เกิดพลังในการสร้างการเรียนรู้ให้กับครอบครัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นางสาวโสพิญฐ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินโครงการในครั้งนี้ จะอำนวยประโยชน์แก่คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน และเครือข่ายด้านครอบครัวในจังหวัดแพร่เป็นอย่างยิ่ง และขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณคณะวิทยากรสมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ และผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ตลอดจนผู้มีส่วนร่วม ที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการครั้งนี้ และหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้นำความรู้ต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป