พาณิชย์แนะผู้ส่งออกไทยเร่งใช้ประโยชน์จาก FTA เผยส่งออกสตาร์ชจากมันสำปะหลังใช้สิทธิ FTA 6 เดือนแรก โต 51.69%

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือนมกราคม – มิถุนายนของปี 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 40,281.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.10% โดยมีสตาร์ชจากมันสำปะหลังใช้สิทธิ FTA หลายฉบับ มูลค่ารวมโตกว่า 50%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 40,281.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.10% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ โดยเป็นการส่งออกไปยังอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 14,814.47  ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.34% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ภายใต้ ATIGA อันดับสองเป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน – จีน (ACFTA) มูลค่า 11,713.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 91.32% อันดับสาม ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 3,321.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.15% อันดับสี่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 2,923.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 73.21% และอันดับห้า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 2,572.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 60.80%

นอกจากนี้ ภาพรวมสินค้าที่มีการส่งออกภายใต้ความตกลง FTA ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการส่งออกแบ่งเป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น ทุเรียนสด เนื้อไก่แปรรูป และสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง มูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 12,758.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 31.67% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ความตกลง FTA ทั้งหมด และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ขนส่ง (เครื่องดีเซลหรือกึ่งดีเซล) ยางสังเคราะห์และแฟกติชที่ได้จากน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ มูลค่า  27,522.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 68.33 % ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ความตกลง FTA ทั้งหมด โดยสินค้าเกษตรที่น่าสนใจที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ และการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก คือ สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 51.69% จากช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 439.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 666.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยสตาร์ชทำจากมันสำปะหลังหรือแป้งมันสำปะหลัง เป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการสูงในต่างประเทศเนื่องจากนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สารเพิ่มความหวาน สิ่งทอ กระดาษ กาว ไม้อัด รวมถึงการผลิตยารักษาโรค เห็นได้จากสถิติการใช้สิทธิฯ เพื่อส่งออกสินค้าสตาร์ชทำจากมันสำปะหลังซึ่งมีการส่งออกไปหลายประเทศภายใต้ FTA หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียน – จีน (454.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อาเซียน (205.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อาเซียน – เกาหลี (4.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทย-ออสเตรเลีย (1.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทย – ชิลี (0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และไทย – ญี่ปุ่น (0.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นายรณรงค์ฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้ติดอาวุธสำหรับการแข่งขันด้วยการสร้างแต้มต่อทางการค้า ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของกรมการค้าต่างประเทศ โดยสามารถติดตามการจัดงานต่าง ๆ ได้ทางเว็ปไซต์กรมฯ และ facebook “กรมการค้าต่างประเทศ DFT”