สช. ระดมภาคีเครือข่ายร่วมให้ความคิดเห็นกรอบทิศทางนโยบาย ประเด็น “พลิกโฉมกำลังคนสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะ” มุ่งพัฒนา ”ภาพใหม่ระบบสุขภาพไทย” และยกระดับกำลังคนในระบบสุขภาพแนวใหม่ ให้สอดรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เตรียมนำไปปรับปรุงเนื้อหาและกลับมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในเวทีสมัชชารายประเด็นฯ 24 ต.ค.นี้ ก่อนเข้าสู่การรับรองเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปลายปี
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็น พลิกโฉมกำลังคนสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาและรับรองให้เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ในวันที่ 27-28 พ.ย. นี้ โดยมีภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน กว่า 60 องค์กร รวมกว่า 300 คน เข้าร่วมทั้งในสถานที่ประชุมและผ่านช่องทางออนไลน์
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นบุคลากรสุขภาพแนวใหม่สู่เศรษฐกิจและสุขภาพไทยยั่งยืน เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีระบบสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งสะท้อนได้ถึงศักยภาพของระบบสุขภาพในประเทศที่มีคุณภาพ สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายส่วนที่สามารถยกระดับและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยเฉพาะการทำให้ระบบสุขภาพมีความเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายบริการด้านสุขภาพไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ช่วยให้ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดสังคมสุขภาวะ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศ
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามาร่วมกันหาแนวคิด วิธีการ และกระบวนการใหม่ๆ ในการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพแนวใหม่เพื่อตอบสนองกับระบบสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน และขณะเดียวกันก็เป็นระบบสุขภาพที่สามารถสร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศผ่านเรื่องสุขภาพได้
สำหรับกรอบทิศทางนโยบายในประเด็นดังกล่าว ได้มุ่งให้เกิดระบบสุขภาพที่เป็นธรรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดสังคมสุขภาวะ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมพลังของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนผ่านการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพแนวใหม่ ทำงานแบบทีมสุขภาพที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เป็นบริการหลัก ควบคู่กับการขยายการบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ
โดยการลงทุนผลิตกําลังคนที่มีประสิทธิภาพทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพอย่างต่อเนื่องให้มีสมรรถนะและทัศนคติสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบบริการสุขภาพที่เน้นคุณค่า ส่งเสริมการจ้างงานกําลังคนที่มีคุณค่าและมั่นคงในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรสุขภาพและทีมสุขภาพ สร้างศักยภาพประชาชนให้มีความรอบรู้และทักษะด้านสุขภาพที่นําสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างศักยภาพปัจเจก ชุมชน และประชากร เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ศ.วณิชา ชื่นกองแก้ว คณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ กล่าวว่า กรอบทิศทางของนโยบายนี้ ได้ถูกรวบรวมและสังเคราะห์ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว 2 ครั้ง และมีการจัดเวทีถกแถลงเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาอีกหนึ่งครั้ง ก่อนที่ทางคณะทำงานจะสรุปเนื้อหามารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันนี้ โดยมีสาระสำคัญประกอบกรองทิศทางนโยบายนี้อีก 4 ด้าน ทั้งนี้ ได้แก่
1. พัฒนาศักยภาพประชาชนอย่างจริงจัง สร้างการรับรู้ใหม่ในสังคมเกี่ยวกับคุณค่าและบทบาทในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ให้เกิดความเข้าใจ เกิดความตระหนัก มีความมั่นใจและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวในเบื้องต้นได้ ลดการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกมีคุณค่าต่อการดูแลสุขภาพตนเองและต่อระบบสุขภาพ ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่อยู่ในสภาวะเปราะบางเพื่อเปลี่ยนเป็นต้นทุนและพลังของสังคม
2. พลิกโฉมการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแนวใหม่ ให้มีความเข้าใจเรื่องสุขภาวะ มีจิตสาธารณะ มีความเป็นมืออาชีพ สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำงานเป็นทีมสุขภาพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน สามารถตอบโจทย์ระบบสุขภาพปฐมภูมิ สังคมสูงวัยและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินรวมถึงความท้าทายใหม่ได้ ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย การบูรณาการระบบการศึกษา การเรียนรู้และการทำงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพและสหกิจศึกษา
3. ส่งเสริมการจ้างงานกำลังคนด้านสุขภาพที่มีให้เต็มศักยภาพ ในรูปแบบการจ้างที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรสุขภาพ รวมถึงการจ้างงานกำลังคนนอกภาคการสาธารณสุขที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เช่น การจ้างดูแลผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส
4. สร้างความสามารถแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยประชากรที่มีสุขภาพและผลิตภาพ กำลังคนด้านสุขภาพและการบริการสุขภาพ ทั้งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ สมุนไพร วัคซีน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การมีศูนย์เวลเนส (Wellness Center) หรือมีหน่วยให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร (Medical hub)
ขณะที่ นพ.กิจจา เรืองไทย คณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้พบว่าผู้เข้าร่วมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องตรงกันว่าระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งมีตัวอย่างความเห็นทั้งจากตัวแทนบุคลากรวิชาชีพรุ่นใหม่ ที่สะท้อนความต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ รวมไปถึงบุคลากรที่ไม่ใช่สายวิชาชีพ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ ที่ยังสะท้อนความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ที่จะช่วยให้กลุ่มคนเปราะบางเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้นได้ด้วย
นพ.กิจจา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความเห็นในเรื่องของการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากำลังคนให้สามารถตอบสนองกับความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลังจากนี้ทางคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ จะมีการนำความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ ไปประมวลผลและปรับปรุงเนื้อหา (ร่าง) กรอบทิศทางนโยบายนี้ให้มีความแหลมคม ชัดเจน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป ก่อนที่นำมาให้ภาคีเครือข่ายได้พิจารณาและมีฉันทมติร่วมกันอีกครั้ง ในเวทีสมัชชาสุขภาพรายประเด็น ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 ต.ค. 2567 ก่อนที่จะนำมาให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันรับรองเป็นนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป บนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่จะถึงนี้
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระบบบริการสุขภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพและที่ไม่ใช่วิชาชีพ รวมถึงภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน จะทำให้เกิดข้อคิดเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการเดินหน้ายกระดับกำลังคนด้านสุขภาพ ผ่านกลไกนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่จะสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.สุเทพ กล่าวว่า นอกจากความคิดเห็นเพื่อร่วมกันทำให้กรอบทิศทางนโยบายนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว ภาคีเครือข่ายยังต้องร่วมมองต่อไปถึงการช่วยกันนำนโยบายนี้เดินหน้าไปสู่การขับเคลื่อนได้จริง ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับสังคมให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดี และเชื่อมโยงไปถึงการสร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทสผ่านการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่เกิดจากการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพนั่นเอง