“ขุยมะพร้าว” เป็นวัสดุเหลือใช้จากการใช้ประโยชน์เส้นใยมะพร้าวในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ประเภท ที่นอน เบาะรองนั่ง ฯลฯ มีลักษณะเป็นผงสีนํ้าตาล มีความละเอียดประมาณเม็ดทราย แห้งสนิท มีคุณสมบัติที่เบา อุ้มน้ำได้ดี และเก็บความชื้นไว้ได้นาน เมื่อจะนำมาใช้ต้องพรมน้ำให้ขุยมะพร้าวมีความชื้นพอเหมาะ ไม่แฉะ และไม่แห้งเกินไป
โดยทั่วไปมักมีการนำขุยมะพร้าวมาใช้เป็นวัสดุปลูก เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีคุณสมบัติน่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาเป็นวัสดุที่สอดคล้องกับการใช้งานเพื่อทดแทนพลาสติกและโฟมได้ ดังเช่น การใช้เป็นวัสดุกันกระแทกสำหรับขวดแก้วเพื่อทดแทนโฟม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผ่านการดำเนินงานของ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา วิธีการขึ้นรูปขุยมะพร้าวเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ (อนุสิทธิบัตรเรื่องสูตรและกรรมวิธีการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์จากขุยมะพร้าวด้วยคลื่นไมโครเวฟ เลขที่ยื่นจด 2303002175) ซึ่งวิธีการขึ้นรูปที่พัฒนาขึ้นนั้น มีข้อดีหลายประการ ได้แก่
1) สามารถขึ้นรูปได้อย่างอิสระ (Free form Molding) โดยไม่จำเป็นต้องมีแม่พิมพ์เฉพาะ
2) สามารถใช้วัสดุเดี่ยว (Mono material) ในการขึ้นรูปได้
3) กระบวนการขึ้นรูปไม่ซับซ้อน จึงขยายสเกลสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ง่ายด้วยต้นทุนต่ำ
4) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ ได้
จากการพัฒนา “วิธีการขึ้นรูปขุยมะพร้าวเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์” ดังกล่าว ได้นำมาสู่การออกแบบและพัฒนา วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม สำหรับการขนส่งแบบพัสดุ ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน ผ่านช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ที่เข้าถึงลูกค้าได้ไม่จำกัดจำนวน ลดต้นทุนหน้าร้าน พร้อมโฆษณาและทำการตลาดได้ตรงจุด
ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ทำการทดสอบคุณสมบัติที่จำเป็นตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ความหนาแน่น การทดสอบการต้านแรงกด (ASTM D 1621 : Standard Test Method for Compressive Properties Of Rigid Cellular Plastics) และการทดสอบการจำลองการขนส่งแบบพัสดุ (International Safe Transit Association: Packaged-Product for Pacel Delivery System Shipment 70 kg (150 lb) or Less) โดยเปรียบเทียบกับวัสดุกันกระแทกจากโฟมพบว่า ความหนาแน่นเฉลี่ยของวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวมีค่าประมาณ 0.3 กรัม/ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ส่วนวัสดุกันกระแทกจากโฟมมีค่าประมาณ 0.03 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร จะเห็นได้ชัดว่าวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวมีความหนาแน่นมากกว่าโฟม ทั้งๆ ที่มีขนาด/รูปร่างใกล้เคียงกัน และส่งผลให้วัสดุกันกระแทกจากโฟมมีน้ำหนักมากกว่าเช่นกัน แต่วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวยังคงมีน้ำหนักเบามาก เทียบเคียงได้เท่ากับน้ำหนักของเส้นใยนุ่นซึ่งถือว่าเป็นเส้นใยที่เบาที่สุดในโลก โดยมีความหนาแน่น 0.29-0.305 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
นอกจากนี้ยังพบว่า วัสดุกันกระแทกจากขุยพร้าวมีคุณสมบัติในการต้านแรงกดที่น้ำหนักกดทับสูงสุด 15 กิโลกรัมแรง คล้ายคลึงกับวัสดุกันกระแทกจากโฟม และสามารถคุ้มครองขวดแก้วบรรจุแยมจากแรงกระทบกระทั่งระหว่างการขนส่งแบบพัสดุได้เทียบเท่ากับโฟม โดยตัวอย่างขวดแก้วบรรจุแยมที่ใช้ในการทดสอบไม่เกิดการเสียหายใดๆ ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมหลังผ่านการทดสอบ แสดงให้เห็นว่าวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวสามารถใช้ทดแทนวัสดุกันกระแทกจากโฟมได้ในการขนส่งแบบพัสดุโดยมีข้อดีเพิ่มเติมในประเด็นของการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
จากคุณสมบัติของ “วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม” ดังกล่าวข้างต้น หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้ง สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในการคัดสรรประเภทธุรกิจและคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนานี้สู่เชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2577 9000 หรือที่ “วว. JUMP”
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ จาก ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย รวมทั้งการให้คำปรึกษา วิจัย บริการและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่ของการปกป้องคุ้มครองคุณภาพและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ผลิตภัณฑ์ประสบอยู่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหารและเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน สามารถนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพร้อมสู่ตลาดการค้าโลกต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการ ได้ที่ โทรศัพท์ 0 2579 1121-30 ต่อ 3101, 3208 , 081 702 8377 โทรสาร 0 2579 7573 E-mail : TPC-tistr@tistr.or.th