ภญ.กาญจนา วงศ์สว่างศิริ ผู้อำนวยการกองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย และ ภญ.นันทินี หงส์วานิช หัวหน้าแผนกจัดซื้อวัตถุดิบ กองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัล “เพชรพัสดุ” ประจำปี 2567 จากสมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย
สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย มอบรางวัล “เพชรพัสดุ” ประจำปี 2567 ให้กับ ภญ.กาญจนา วงศ์สว่างศิริ ผู้อำนวยการกองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม ได้รับ “รางวัลผู้บริหารด้านการพัสดุดีเด่น ประจำปี 2567” และ ภญ.นันทินี หงส์วานิช หัวหน้าแผนกจัดซื้อวัตถุดิบ กองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม ได้รับ “รางวัลผู้ปฏิบัติงานด้านการพัสดุดีเด่น ประจำปี 2567”
โดยคณะกรรมการของสมาคมได้พิจารณาแล้วว่าผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ เอาใจใส่ ใฝ่เรียนรู้ มีวินัยในการทำงาน มีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์ และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบให้บรรลุความสำเร็จเป็นไปตามแผนงานและยุทธศาสตร์หลักขององค์กร รวมทั้งสามารถดูแลการบริหารจัดการงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียรและสนใจใฝ่เรียนรู้ อีกทั้งยังมีการพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถของตนอย่างต่อเนื่อง มีการปฏิบัติหน้าที่ให้คืบหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ที่สำคัญยังเป็นแบบอย่างที่ดีของราชการหรือหน่วยงานของรัฐและสังคมอีกด้วย
ภญ.กาญจนา วงศ์สว่างศิริ ผู้อำนวยการกองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตามภาระหน้าที่ความรับผิดชอบทำให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจการดำเนินงานด้านการลดต้นทุนวัตถุดิบและการสำรองไม่ให้ขาดจ่าย รักษาราคายาและเวชภัณฑ์ของประเทศไม่ให้สูงโดยจำหน่ายราคายาในบัญชียาหลักแห่งชาติไม่เกินราคากลาง ดำเนินการลดความเสี่ยงราคาต้นทุนที่สูงขึ้นและเพื่อให้มี Supply อย่างต่อเนื่อง โดยการสืบค้นข้อมูลและประสานบริษัทผู้จำหน่ายวัตถุดิบถึงแนวโน้มราคาและปัญหาการ Supply เพื่อใช้วางแผน สั่งซื้อตาม Lead Time ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถป้องกันปัญหาการขาดจ่ายและชะลอการเพิ่มต้นทุนที่สูงเกินไป รวมถึงการแก้ปัญหาระบบ Supply Chain ด้วยการนำระบบ Scrum and Agile Process มาใช้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ อย. และตามมาตรฐานการผลิตที่ดี GMP/PICS (GOOD MANUFACTURING PRACTICE) แบบ Fast Tract ดำเนินการทดลองแบบคู่ขนาน ลดระยะเวลาในขั้นตอนตรวจสอบเอกสาร วิเคราะห์ตัวอย่างและการทดลองผลิตเป็นยาสำเร็จรูปทำให้สามารถลดเวลาในการรับแหล่งเพิ่มกรณีมีบริษัทวัตถุดิบบางแห่งยกเลิกการผลิต เช่น วัตถุดิบยารักษาโรคไขมันในเส้นเลือด วัตถุดิบยารักษาโรคหัวใจ จนสามารถผลิตยาออกมาได้ทัน การจัดหาและสำรองยาสำเร็จรูปในภาวะฉุกเฉิน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อ COVID-19 และอยู่ในแนวทางการรักษาของประเทศไทยในขณะนั้น เนื่องจากเกิดสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกจึงเกิดการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ยา เนื่องจากประเทศหลักๆ ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ยาต้องสำรองผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุดิบยาไว้ใช้ภายในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการวางแผนจัดการร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกเพื่อสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ โดยจัดหานำเข้าจากแหล่งผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณประเทศได้มาก และลดความเสี่ยงยาขาดแคลน โดยได้มีการจัดส่งไปใช้และสำรองตามสถานพยาบาลต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
ด้าน ภญ.นันทินี หงส์วานิช หัวหน้าแผนกจัดซื้อวัตถุดิบ กองจัดซื้อพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านการพัสดุเป็นเวลา 13 ปี ที่ฝ่ายบริหารพัสดุและผลิตภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม ตามภาระหน้าที่ความรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหลัก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเวลาการทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดซื้อ 1 (จัดซื้อต่างประเทศ) และช่วงเวลาการทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดซื้อวัตถุดิบนั้น จึงทำให้มีส่วนร่วมในภารกิจการจัดหาและสำรองทรัพยากรในช่วงระยะเวลาที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาและยารักษาโรคเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการซื้อสินค้าจากต่างประเทศในเวลานั้น มีความภาคภูมิใจได้มีส่วนร่วมในการการเจรจาต่อรอง เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดซื้อ และเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการงานดำเนินพิธีการทางศุลกากร ได้มีโอกาสนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมงานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ท่ามกลางการดำเนินงานในสถานการณ์ที่กดดัน อีกทั้งยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า และประชาชนทั่วไปที่กำลังตื่นตระหนก โดยการจัดหาวัคซีนและยารักษาเพื่อส่งกำลังบำรุงให้กับบุคลากรในประเทศโดยเร็ว ทั้งนี้ สภาวการณ์ปกติหรือเร่งด่วนยังคงต้องยึดถือหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด โดยสามารถดำเนินการจัดซื้อภายใต้หลักการของ พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ยึดหลัก คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้เสมอมา
นอกจากนี้ การทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดซื้อวัตถุดิบในการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตยา เช่น ยารักษาโควิด ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษากลุ่มโรคเรื้อรัง เป็นต้น อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้ส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานการจัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ โดยมีการทำงานเชิงรุกเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ขององค์การเภสัชกรรม ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรู้สึกภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เพิ่มแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนการผลิตทำให้สามารถผลิตยาสำเร็จรูปที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ สำหรับแนวทางการทำงานนั้นได้ยึดหลักการทำงานเป็นทีม มุ่งเน้นการประชุม Supplier Meeting รับฟังปัญหา เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับ Stakeholder อยู่เสมอ เพื่อเร่งรัดกระบวนการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม พร้อมทั้งการใช้วิธี Scrum ในการประชุมและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการทำงานให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและเป็นระบบ จนก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง
ภญ.นันทินี กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานรู้สึกภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานด้านการพัสดุอย่างเต็มกำลังและความสามารถ อันก่อให้เกิดผลงานที่ประจักษ์ข้างต้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้โอกาส รวมถึงเพื่อนร่วมงานที่คอยสนับสนุนและทีมงานในแผนกที่ทุ่มเทเพื่อการทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ต่อจากนี้ไปข้าพเจ้ามีปณิธานที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงาน สังคม และประเทศชาติสืบไป