วันที่ 4 กันยายน 2567 ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น แถลงข่าว “การประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต” ประจำปี 2567 โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พลเอกธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต นางพิลาสพรรณ อุดมจารุมณี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน ให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต และร่วมกันรณรงค์การต่อต้านการทุจริต เพื่อสร้างสังคมไทยให้โปร่งใส และไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งการต่อต้านการทุจริตหรือการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น มิใช่ภาระหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันในการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไป จากแผ่นดินไทย โดยการดำเนินงานตลอด 9 ปี ของมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ทำให้การดำเนินงานขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต ประสบความสำเร็จได้ผลเป็นที่น่าภาคภูมิใจ จนทำให้มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ได้รับประกาศจากกระทรวงการคลัง ให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 988 ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป อีกทั้งมูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นให้หน่วยงานต่าง ๆ หรือทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมดำเนินกิจกรรมต่อต้านการทุจริตเพื่อให้สังคมไทยปลอดจากการทุจริต “สำหรับโครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต” ประจำปี 2567 เป็นการประกวดฯ ที่มีความร่วมสมัย เข้าถึงผู้ชมได้ง่าย และสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตให้กับประชาชน ผ่านการเลือกใช้ 1 เพลง จากบทเพลงช่อสะอาดต้านทุจริตทั้ง 10 เพลง และเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่อีก 1 เพลง เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตให้กับคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ได้ตระหนักถึงการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งการประกวดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจัดการประกวดอย่างดียิ่ง จาก กระทรวงวัฒนธรรม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรูปลูกปัญญา และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้เห็นความสำคัญให้การสนับสนุนงบประมาณการจัดโครงการประกวดฯ ในปีนี้ โดยผลงานที่ชนะการประกวดจะได้นำไปใช้ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อร่วมกันปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านการทุจริตและสร้างสังคมที่โปร่งใส ต่อไป” ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กล่าว
ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นโยบายกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมาโดยตลอด ได้แก่ การจัดทำแผนส่งเสริมองค์กรคุณธรรม ขับเคลื่อนให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม รวมถึงจัดกิจกรรมและจัดทำสื่อสร้างสรรค์เสริมสร้างความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่งผลให้กระทรวงวัฒนธรรมได้รับการประเมินว่าเป็นองค์กรคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาวธ.ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต โดยให้ความสำคัญในการปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึก เสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนให้มีความตระหนักรู้ถึงผลเสียหายจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ และร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมไทยที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทรูปลูกปัญญา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และภาคีเครือข่าย จัดโครงการประกวดรณรงค์ต่อต้านการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เช่น โครงการประกวดการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ในปี 2565 โครงการประกวดละครเพลงต่อต้านการทุจริตในปี 2566 และปีนี้วธ.ได้ร่วมจัด “โครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานการแสดงในรูปแบบวงดนตรีให้เยาวชนไทย ร่วมสร้างสรรค์ผลงานการต่อต้านการทุจริตในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงเพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งวธ.ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทั้งการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน การสนับสนุนสถานที่ในการประกวดทั้งรอบคัดเลือก และรอบตัดสิน และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าร่วมการประกวดอีกด้วย”
ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู โดย “ทรูปลูกปัญญา” รู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ที่ได้รับเกียรติจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ให้มีโอกาสร่วมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อปลูกความรู้และปลูกความดี ให้กับเยาวชนและประชาชนคนไทย โดยทรูดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และยึดมั่นใน “ความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมองค์กร เป็นหลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต รวมทั้งชุมชนและประชาชนทั่วประเทศได้ตระหนักรู้ถึงการมีส่วนร่วม เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยร่วมดำเนินการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การประกวดเพลงช่อสะอาด ต้านทุจริต การประกวดมิวสิควิดีโอต่อต้านการทุจริต การประกวดค่ายเยาวชนช่อสะอาดต้านทุจริต การประกวดศิลปะการแสดงพื้นบ้านต่อต้านการทุจริต การประกวดต่อต้านทุจริตผ่าน TikTok การประกวดต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ไทยประยุกต์ รวมทั้งการประกวดละครเพลงต่อต้านทุจริต ซึ่งทุกโครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
“ปีนี้ “ทรู ปลูกปัญญา” ได้ร่วมจัดโครงการประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567 พร้อมกับให้การสนับสนุนทางด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของทรู และบริษัทในเครือ ทั้งการเผยแพร่ข่าวสารออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และช่วยให้คำปรึกษาในการดำเนินการจัดงานตลอดทั้งโครงการฯ นอกจากนี้ การประกวดรอบชิงชนะเลิศ จะทำการถ่ายทอดสดการประกวดผ่านทางช่องทรูปลูกปัญญา และนำบทเพลงต่อต้านการทุจริตทั้ง 10 เพลง ในรอบชิงชนะเลิศไปเผยแพร่ต่อยอดในช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมไทยให้ตระหนักรู้ไม่ยอม ไม่ทน ต่อการทุจริตต่อไป”ดร.เนตรชนก กล่าว
พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า การประกวดวงดนตรีต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2567 เพื่อเชิญชวนเยาวชน มาร่วมกันเปิดเวทีแห่งความซื่อสัตย์ผ่านทางดนตรี ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา ต้องเป็นนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับอุดมศึกษา ต้องเป็นนิสิต นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวส.) โดยสมาชิกในวงต้องอยู่สถานศึกษาเดียวกันทั้งหมด สมาชิกในวงมีได้ไม่เกิน 20 คน (รวมนักร้อง, นักดนตรี, หางเครื่อง, นักเต้น หรือแดนเซอร์) โดยผู้ชนะจะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษารวม 550,000 บาท สมัครประกวด และส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ดาวน์โหลดใบสมัครและรายละเอียดโครงการ ได้ที่ www.acf.or.th, www.m-culture.go.th หรือที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ “มูลนิธิต่อต้านการทุจริต” เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ช่อสะอาดต้านทุจริต”
สอบถามเพิ่มเติมโทร. 097-289-9246, 089-139-6064 (วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.)