จากฝนที่ตกเพิ่มขึ้นบริเวณตอนบนของประเทศไทยในช่วงนี้ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้หลายแห่ง ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามปริมาณฝนและสภาพน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของทั้งประเทศ ปัจจุบัน(3 ก.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 42,126 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 18,589 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 28,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,452 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,756 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทั้ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.
เนื่องจากฝนที่ตกหนักในระยะนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำจากลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำต่างๆ ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น ในวันนี้(3 ก.ย. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ มีน้ำไหลงลงอ่างฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 644 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม.
เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำไหลงลงอ่างฯ รวมประมาณ 222 ล้าน ลบ.ม. ระบายออกประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม.
ปริมาณน้ำเก็บกับของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำบางแห่ง ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุฯ อย่างต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประตูระบายน้ำ(ปตร.) คลองหรือระบบระบาย ให้มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้มากที่สุด และยังคงต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตด้วย
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน
3 กันยายน 2562