นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ โดย Dr.Ryohei Hasegawa อธิการบดีวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ ประเทศญี่ปุ่น และมี Mr.Keiichi Mori Chairman และ Mr.Takayuki Tokoi Director General ร่วมเป็นพยาน สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจนี้จัดทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานยุวเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ เดินทางไปฝึกอบรมและร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ในการแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ รวมทั้งพักอาศัยอยู่ในบ้านของเกษตรกร (Host Family) เป็นระยะเวลา 30 วัน ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งในปี 2567 นี้ มีผู้ร่วมโครงการฯ จากประเทศไทย รวมทั้งสิ้น จำนวน 8 คน ประกอบด้วย ยุวเกษตรกรหรือเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 6 ราย และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานฯ จำนวน 2 คน โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการจากประเทศไทยเดินทางไปฝึกงานและศึกษาดูงานประเทศญี่ปุ่น ในช่วงช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมของทุกปีแล้ว จำนวน 182 คน และมีผู้เข้าร่วมโครงการจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาฝึกงานและศึกษาดูงานประเทศไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปีแล้ว จำนวน 123 คน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรคาดว่า ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมโครงการทุกคนจะสามารถเพิ่มพูนความรู้ ทักษะด้านการเกษตรเพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานของตนเอง เกิดการพัฒนางานยุวเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างประเทศ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของยุวเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศญี่ปุ่น และความสัมพันธ์อันดีระหว่างยุวเกษตรกรไทยกับนักศึกษาญี่ปุ่น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การฝึกงานและศึกษาดูงานฟาร์มเกษตรกรรมของจังหวัดโคอิบูจิ เกษตรกรรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้หลักการทำเกษตรแบบแม่นยำสูง จากโรงเรือนอัจฉริยะเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น มะเขือเทศ เมล่อน เป็นต้น ซึ่งมีการควบคุมความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ กระแสลม ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน ธาตุอาหารพืช ให้เหมาะสมตามความต้องการของพืช และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการเรียนรู้การปลูกข้าวญี่ปุ่น (สายพันธุ์โคชิฮิคาริ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น) ด้วยกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การอบ การคัดคุณภาพ การแปรรูป การจัดจำหน่ายครบวงจรภายในฟาร์ม สามารถบริหารการผลิต การตลาด การเงินและการบัญชีได้อย่างมีเสถียรภาพ สะสมความมั่งคั่งได้ดี อันเป็นเกษตรกรที่มีทักษะก้าวหน้าและสมรรถนะการพึ่งพาตนเองสูง ทั้งด้านการปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต และด้านการตลาด ที่ซึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่ของไทยจะได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการที่สมเหตุสมผลและการฝึกปฏิบัติจริง เกิดเป็นทักษะที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดช่วงชีวิต
นอกจากนั้นภายใต้ความร่วมมือระยะต่อไป วิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิมีความยินดีในการเผยแพร่การทำเกษตรของญี่ปุ่น ผ่านการเรียนรู้แบบ e-Learning โดยเฉพาะเรื่องที่เผยแพร่วิธีการทางปฏิบัติ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (Packaging) ซึ่งการเรียนรู้ในปัจจุบันต้องเปลี่ยนรูปแบบในการสื่อสาร มีการเรียนรู้ผ่าน Platform ต่าง ๆ ให้เข้าถึงทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต “Lifelong Learning” ท่ามกลางความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ในทุก ๆ วัน และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และทางวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิยินดีที่จะมีความร่วมมือกับ Start Up ของไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร ทั้งนี้ ในปี 2568 ทางวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิจะเริ่มส่งเจ้าหน้าที่และ Host Family มาดูงานด้านการเกษตรที่ไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ (Economics) เพื่อให้เกษตรกรมีความตระหนักถึงประโยชน์ของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง พร้อมสร้างระบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning Community) เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้น การพัฒนา Lifelong Learning Platform ของกรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นช่องทางหนึ่งที่เกษตรสามารถเชื่อมต่อแหล่งความรู้ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ที่ซึ่งมีการพัฒนาความรู้ไม่มีวันสิ้นสุด
ทั้งนี้ วิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ (Koibuchi College of Agriculture) ตั้งอยู่ในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรในยุคปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรให้มีคุณภาพสูง สามารถนำความรู้ไปพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศได้อย่างยั่งยืน ผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียนกับการปฏิบัติจริงในฟาร์ม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเรียน การสอนและการผลิต มีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรและจัดหางานให้นักศึกษา ตลอดจนมีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานจริง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีการจัดกิจกรรมฝึกปฏิบัติจริงในฟาร์มของวิทยาลัย และฟาร์มของเกษตรกรตัวอย่าง