กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังหน่วยงานภายในและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ฝึกซ้อมการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อกระชับความร่วมมือและยกระดับขีดความสามารถให้พร้อมติดตาม ป้องกัน แก้ไข และรับมือกับโรคและภัยสุขภาพครอบคลุมทุกระยะ ทันสถานการณ์ เป็นระบบและมีความเป็นเอกภาพ สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
วันนี้ (4 กันยายน 2567) ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการฝึกซ้อมการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำปี 2567 (Medical emergency Management Exercise 2024 : M-MEX 2024) โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากหน่วยงานระดับกรม/กองในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 13 ตลอดจนกระทรวงต่างๆ รวม 120 คน ร่วมงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง รวมถึงนโยบายระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญกับภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับขีดความสามารถในการติดตาม ป้องกัน แก้ไข และรับมือกับปัญหาภัยคุกคามทุกมิติ บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ขณะเผชิญกับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข ประเด็นทุกคนปลอดภัย ด้วยการยกระดับระบบดิจิทัลในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เน้นความสำคัญของการดูแลให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ พัฒนาการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยใช้กลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอก ให้มีความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินฯ หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ เป็นระบบ และมีความเป็นเอกภาพ
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย อยู่ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ของแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมของกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติทางการแพทย์และสาธารณสุข ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ให้มีองค์ความรู้ในการจัดการความเสี่ยงครอบคลุมทุกระยะของการเกิดโรคและภัยสุขภาพ ตามหลัก 2P2R ประกอบด้วย การดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบ (Prevention & Mitigation) การเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน (Preparedness) การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Response) และการฟื้นฟูหลังเกิดภาวะฉุกเฉิน (Recovery)
สำหรับโครงการ M-MEX 24 ที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นการทดสอบระบบบริหารจัดการการยกระดับการบริหารสถานการณ์ ตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงภาวะวิกฤต และความเชื่อมโยงระหว่างระบบบัญชาการเหตุการณ์และกลไกการบริหารสถานการณ์ ตลอดจนช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติให้สามารถรับมือกับภัยและภาวะฉุกเฉินทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ