สกมช. ร่วมกับ พันธมิตรด้านการศึกษา เปิดเวที “ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4” เดินหน้าขยายผลหลักสูตรไซเบอร์เข้าสู่ระบบการศึกษาไทย สร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้ภัยไซเบอร์

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดกิจกรรม ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ “เสริมสร้างระบบการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาพลเมือง Cyber ในอนาคต” โดยกิจกรรมประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพในการป้องกัน รับมือ ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ สร้างความร่วมมือระหว่าง สกมช. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน พัฒนาความรู้ รวมถึงการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างทันท่วงที และเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกัน โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธานและร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น

สำหรับการสัมมนาในหัวข้อ “เสริมสร้างระบบการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาพลเมือง Cyber ในอนาคต” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย จากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์  โดยมุ่งส่งเสริมการการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างพลเมือง Cyber ที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถปกป้องตัวเองและประเทศชาติจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ ทั้งนี้สิ่งที่ภาคส่วนการศึกษาต้องร่วมมือกัน คือ การปรับโครงสร้างหลักสูตรพื้นฐานให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเนื้อหาหรือทักษะด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกออนไลน์ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “การร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างพลเมือง Cyber รวมถึงการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัย เพื่อรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในอนาคต และมุ่งเน้นไปที่การสร้างทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ การรู้เท่าทันสื่อ จิตสำนึกในการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ โดยการบูรณาการความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมในการปกป้องตัวเอง สามารถเผชิญหน้ากับภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันเป้าหมายหลักสูตรไซเบอร์ให้เข้าถึง ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน ได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันเสริมภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนให้ได้ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์อย่างปลอดภัย”