แฟชั่นโชว์ “ชุดผ้าไหมไทย” 93 ประเทศพร้อมใจเดินแบบเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงาน “มหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13” ณ หอประชุมกองทัพเรือ

วันที่ 31 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13” โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย ดร.สุมาลี อุทัยเฉลิม กรรมการที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช คู่สมรสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนรัฐบาลไทย เอกอัครราชทูตและคู่สมรส ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย กงสุลกิตติมศักดิ์ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน แขกผู้มีเกียรติ นักศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอประชุมกองทัพเรือ

โดยในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวด “The 5th Next Big Silk Designer Contest 2023” 6 รางวัล ได้แก่ รางวัลการประกวดออกแบบลายผ้าไหมร่วมสมัย 1 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนสุรวิทยาคาร สุรินทร์ จากผลงาน “Pride of The Farmer” ได้รับโล่และเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลการประกวดออกแบบชุดผ้าไหมร่วมสมัย ได้แก่ 1. รางวัลชนะเลิศออกแบบผ้าไหมร่วมสมัย สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากผลงาน พระเอกใหญ่ 999 “ไหมไทย หัวใจศิลป์” ได้รับโล่และเงินรางวัล 100,000 บาท 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา จากผลงาน “นิรันดร” ได้รับโล่และเงินรางวัล 70,000 บาท 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่และเงินรางวัล 50,000 บาท มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากผลงาน “แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต” 4. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี จากผลงาน I’LL TELL YOU SOMETHINGได้รับโล่และเงินรางวัล 30,000 บาท และ 5. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากผลงาน “THAILAND SEGALA” ได้รับโล่และเงินรางวัล 20,000 บาท

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย 11 สาขาตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะสาขาการออกแบบและแฟชั่นได้ส่งเสริมการนำผ้าไทยและผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รองเท้า กระเป๋าและของใช้ต่างๆผ่านการดำเนินโครงการผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีอาชีพ รายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและมุ่งสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไหมไทยมายาวนาน และทรงเป็นผู้นำในการสวมใส่ผ้าไหมไทย ทำให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ดังนั้น วธ.ได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรม จัดงานมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 13 ขึ้น ณ หอประชุมกองทัพเรือ เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงอุปถัมภ์ บำรุงรักษา สืบสานและต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทย โดยเฉพาะทรงส่งเสริมและเผยแพร่คุณค่าความงดงามของผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานมีการจัดนิทรรศการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 39 จังหวัด นิทรรศการผลงานการออกแบบชุดผ้าไหมของนิสิต นักศึกษา นิทรรศการออกแบบลายผ้าร่วมสมัย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CPOT ผ้าไหม การมอบรางวัลแก่ผู้ชนะในโครงการประกวด “The 5th Next Big Silk Designer Contest 2023” 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศออกแบบผ้าไหมร่วมสมัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดชุดผ้าไหมร่วมสมัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การประกวดชุดผ้าไหมร่วมสมัย และรางวัลชนะเลิศการประกวดชุดผ้าไหมร่วมสมัย และการแสดงศิลปวัฒนธรรม 2 ชุด ได้แก่ ชุด “วิจิตรศิลป์ถิ่นสยาม” เป็นการร่ายรำของเหล่าเทวดา นางฟ้า การแสดง“พระราม พระลักษณ์” นำเสนอตัวละครเอกของเรื่องรามเกียรติ์และ“ยกรบ” พระรามรบกับทศกัณฐ์ และชุด“อลังการสุวรรณภูมิ” เป็นขบวนแห่โคมยุคสุโขทัย ยุคอยุธยามีการเชิดหนังใหญ่ผสมผสานระบำรำฟ้อนและการเชิดหุ่นละครเล็กและยุครัตนโกสินทร์เป็นการแสดงศิลปร่วมสมัย รำไทยผสมการเต้นแจ๊ส บัลเลต์โมเดิร์น

ขณะเดียวกันมีการแสดงชุด “เส้นใยศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงาน เป็นการแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดผ้าไหมไทย ประกอบด้วย 4 องก์ ได้แก่ 1.พิพัสตราภรณ์แห่งดินแดนสยาม โดยคณะรัฐมนตรีและตัวแทนรัฐบาลไทยจากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ 2.เส้นสายลายภูษาสู่ภูมิปัญญาชาวสยาม โดยเอกอัครราชทูต 41 ประเทศ 3.อลังการแห่งผ้าไหมไทย โดยตัวแทนสถานทูต 32 ประเทศ และ4.สยามอาณาจักรแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกงสุลกิตติมศักดิ์ 20 ประเทศ การแสดงแฟชั่นโชว์รอบฟินาเล่ และพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเอกอัครราชทูตอาวุโส ดาตุ๊กโจจี แซมูเอล (H.E. Datuk Jojie Samuel) เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 โดยได้รับความร่วมมือจากกรมประชาสัมพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและสื่อออนไลน์ของกระทรวงและหน่วยงานต่างๆในการเผยแพร่กิจกรรมภายในงานไปสู่ 93 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ มีพิธีมอบรางวัลและจัดแสดงชุดผ้าไหมไทยที่ชนะการประกวด “The 5th Next Big Silk Designer Contest 2023” และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CPOT ผ้าไหม ระหว่างวันที่ 1 – 8 กันยายน 2567 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 2 กันยายน 2567 ณ ลาน SPHERE GALLERY ชั้น 2ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

“การจัดงานมหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลกครั้งนี้ เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและนานาประเทศ โดยเป็นเวทีสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสถาบันอาชีวศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาที่มีความใฝ่ฝัน มุ่งมั่นที่จะเป็นดีไซเนอร์ได้แสดงความสามารถในการออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไหมไทยให้กับคณะรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐบาลไทย เอกอัครราชทูตและคู่สมรส และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย นอกจากนี้ นักศึกษาได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์กับนักออกแบบนานาชาติ งานครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างให้ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาต่อยอดผ้าไหมไทยอย่างยั่งยืน” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว