เมืองไข่มุกแห่งอันดามัน “รวมพลสวัสดิการชุมชน สานพลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร

ภูเก็ต / เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต 18 อปท.  ร่วมกันจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนครั้งที่ 15  “สวัสดิการชุมชน พลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร” ยกระดับกองทุนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน และการพัฒนาระบบการทำงานที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างสังคมสุขภาพดีชีวีมีสุข โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชนธุรกิจ ช่วยกันสนับสนุน

กว่า 19 ปี กองสวัสดิการชุมชน “การให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จัดได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ได้หมายถึงแต่เพียง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปากท้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การเข้าถึงบริการสาธารณะ และสวัสดิการต่างๆ จากทางภาครัฐที่มีให้แก่ประชาชน ก็ถือได้ว่าเป็นความเหลื่อมล้ำด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หลายชุมชนจึงได้รวมตัวกัน ผนึกกําลังจนก่อเกิดเป็นความเข้มแข็งในชุมชน และร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา  เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม

จากแนวความคิด “ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาเป็นแนวคิดแนวทางในการดำเนินงาน เป้าหมายในการดำเนินงาน เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงและความอยู่เย็นเป็นสุขของทุกคนในชุมชน หัวใจสำคัญ คือ “การให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  “เงินเป็นเครื่องมือการพัฒนาไม่ใช่เป้าหมาย”

กองทุนสวัสดิการชุมชน คือการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแนวทางการดำเนินงานสำคัญ คือ การใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่แต่ละชุมชนเป็นฐานในการจัดสวัสดิการครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย บนฐานของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยความสมัครใจ เป็นกองทุนสวัสดิการที่มีฐานจากการสมทบเงินของสมาชิกวันละ  1 บาท เกิดการสร้างพลังในการพึ่งตนเอง  และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนให้เกิดการจัดสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง    เริ่มจัดตั้ง ตั้งแต่ปี 2548   ปัจจุบัน มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ จำนวน กว่า 6 พันกองทุน สมาชิก กว่า 8 ล้านคน เงินกองทุนสะสมรวมกันประมาณ 20,000  ล้านบาท

กองสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต ตามนโยบายของรัฐบาลสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549  ต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2567 จังหวัดภูเก็ตมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลครบทั้ง 18 ตำบล/เทศบาลของจังหวัดภูเก็ต มีสมาชิกกองทุน จำนวน 18,685 คน  จำนวนเงินกองทุนสะสมกว่า 101 ล้านบาท  มีการช่วยเหลือสวัสดิการให้กับสมาชิกและผู้ที่ไม่ใช่สมาชิก จำนวน 35,984 ราย

“รวมพลสวัสดิการชุมชน สานพลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร

วันนี้ (31 สิงหาคม)  เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต 18 อปท.  ร่วมกันจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 15  “สวัสดิการชุมชน พลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร” มีนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  เป็นประธานการจัดงาน  โดยมี  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต  นายไวทฑ อุปัติศฤงค์ ประธานบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมืองผู้แทนหอการค้าจังหวัดภูเก็ต  ภาคประชาสังคม  ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  และสมาชิกกองทุนฯ กว่า 500 คนเข้าร่วมงาน  ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายเรวัต  อารีรอบ  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)  กล่าวว่า  ปีนี้ อบจ.ภูเก็ตสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน  รวมทั้งการจัดงานในวันนี้จำนวน 400,000 บาท  และปีหน้าจะสนับสนุนอีกจำนวน 500,000 บาท   เพื่อสนับสนุนให้กองงทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดภูเก็ตมีความเหนียวแน่น  มีความรัก  สามัคคีกัน  โดย อบจ.จะช่วยกันดูแลจังหวัดภูเก็ตต่อไป

นางวารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต  กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตว่า  ในปี 2548 คนภูเก็ตกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้ง  ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นมา เพื่อนำเงินสมทบจากสมาชิก  และหน่วยงานรัฐ  มาช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก  สมาชิกที่เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  เริ่มแรกมีเพียง 2 กองทุน 2 พื้นที่   ในปีต่อๆ มาจึงขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนออกไป  ในปี 2553  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนครบทั้ง 18 อปท.ในจังหวัดภูเก็ต (อบต.เทศบาล)

นางวารุณี กล่าวต่อไปอีกว่า เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อสร้างสรรค์สวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมและยั่งยืน เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลครบทั้ง 18 ตำบล/เทศบาล ที่มีสมาชิกกว่า 30,000 คน และเงินกองทุนสะสมกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งได้มีการนำมาใช้ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกรวมแล้วกว่า 35,984 ราย (ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกกว่า 5,000 ราย) รวมทั้งมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน การส่งเสริมอาชีพ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมในชุมชน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตได้มีการส่งเสริมระบบสวัสดิการภาคประชาชน โดยเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่น โครงการ “กิน เปลี่ยน เมือง” ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรและองค์กรธุรกิจในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน  นอกจากนี้ การดำเนินงานยังได้มีการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาสวัสดิการชุมชนให้ครอบคลุมหลายมิติ เช่น การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก การสนับสนุนอาชีพ และการพัฒนาพื้นที่ปลูกผักเพื่อสร้างรายได้และสวัสดิการให้กับชุมชน  นางวารุณี กล่าวในตอนท้าย

 “สวนผัก สร้างคน เปลี่ยนเมือง สร้างพลัง สร้างรายได้ เครือข่ายเข้มแข็ง”

นางวารุณี  ได้กล่าวถึงบทบาทจากภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนว่า  นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดภูเก็ตยังได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน พัฒนาสวัสดิการชุมชนไปสู่งานด้านอื่นๆ ร่วมกับภาคธุรกิจ/เอกชน เช่น การสนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หนุนเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ โดยบริษัทอิโนเวชั่น การสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ โดยคุณไวทฑ อุปัติศฤงค์ กรรมการบริหารบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง (PKCD) ให้ความอนุเคราะห์ให้ใช้ที่ดินในพื้นที่ตำบลป่าตอง จำนวน 2 ไร่ เพื่อพัฒนาโรงเรือนปลูกผักสลัดไฮโดรโพรนิกส์ โดยให้เครือข่ายสวัสดิการชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต “สวนผัก สร้างคน เปลี่ยนเมือง สร้างพลัง สร้างรายได้ เครือข่ายเข้มแข็ง” ซึ่งดำเนินโครงการในพื้นที่ตำบลป่าตอง และขยายผลไปสู่ ตำบลกมลา ตำบลกะรน ตำบลฉลอง และตำบลป่าคลอก โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นสวัสดิการในการช่วยเหลือดูแลผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ อีกทั้งเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนทั้ง 5 พื้นที่

บทบาทสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต่อการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง “บทบาทสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต่อการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง”   มีเนื้อหาโดยสรุปว่า  พอช.ได้ร่วมงานกับพี่น้องชุมชนทั่วประเทศ   รวมทั้งงานสวัสดิการชุมชน  บนฐานของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยความสมัครใจ เป็นกองทุนสวัสดิการที่มีฐานจากการสมทบเงินของสมาชิกวันละ  1 บาท เกิดการสร้างพลังในการพึ่งตนเอง  และสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสนับสนุนให้เกิดการจัดสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง

พอช.ในขณะนี้กำลังขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กทั่วประเทศ  ประมาณ 60 แห่ง  เพื่อใช้เป็นศูนย์ในการพัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพ  มีพัฒนาการที่ดี  มีไอคิวดี  เพราะที่ผ่านมาเราดูแลศูนย์เด็กเล็กไม่ดี  ดูแลเด็กไม่ดี    ไอคิวจึงต่ำกว่าเด็กต่างประเทศ  ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้  ซึ่ง พอช.จะขยายเรื่องศูนย์เด็กต่อไป  โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตจะทำทุกตำบล

ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าวต่อ  โครงการต่อไปที่จะทำคือ “หมอชุมชน”  โดยตนได้คุยกับมูลนิธิแพทย์ชนบทแล้ว  โดยจะทำร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน  ลักษณะเป็น “หมอทางไกล” หรือ Telemedicine  หากตำบลไหนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ  ก็จะมีหมอ 1 คน  ทำงานร่วมกับ รพ.สต.  รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  ส่วนโครงการต่อไปที่ พอช.จะทำ  คือ นักบริบาลชุมชน  เพื่อดูแลผู้สูงอายุ  ดูแลผู้ป่วยติดเตียง  เพราะหากดูแลไม่ดี  จะให้ทำเจ็บป่วยมาก  เสียค่าใช้จ่ายเยอะ  โดยเราจะทำร่วมกับ อสม. และ รพ.สต.  จัดอบรมให้มีนักบริบาลชุมชน  เพื่อไปดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม  มีค่าตอบแทนให้ผู้ดูแล  โดยจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพราะถ้าเราดูแลไม่ดี  ครอบครัวก็จะหมดค่าใช้จ่ายเยอะ

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ พอช.จะทำกับชุมชน  เช่น  โครงการป่าชุมชน  โครงการธนาคารปูม้า  การจัดการขยะ  โดยประชาชน  ชาวชุมชนจะต้องเป็นแกนหลักในการทำโครงการ  แต่โครงการต่างๆ เหล่านี้จะไปพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้  เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด  โดยต้องพึ่งพาตัวเอง  ใช้เงินกองทุนที่ชุมชนมีอยู่  รวมทั้ง พอช.จะประสานกับภาคธุรกิจเพื่อมาสนับสนุนชุมชน  แต่ชุมชนจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง  เพื่อทำโครงการให้เกิดผลงอกเงย  ไม่ใช่เงินลงมาแล้วหมดไป  โครงการต่างๆ เหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีพี่น้อง  โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง  พอช.ก็จะร่วมกับรัฐบาลเพื่อสนับสนุนเรื่องสวัสดิการชุมชนต่อไป  ดร.กอบศักดิ์ กล่าวช่วงท้าย

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจสําคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและชุมชน ในการที่จะพัฒนาบนฐานของการพึ่งตนเอง สวัสดิการชุมชน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชน ในการที่อยากจะมีระบบสวัสดิการของตัวเองที่จะดูแลตัวเอง เติมเต็มกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เพราะฉะนั้นชุมชนก็ลุกขึ้นมาเอาเงินมาสมทบร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ในการรวมคนเข้าหากัน รวมถึงการคิดออกแบบการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางในการดําเนินงานตามบทบาทภารกิจของ พอช. ที่จะต้องไปสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เพราะฉะนั้น การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล และระดับเขตของกรุงเทพมหานครให้เต็มพื้นที่

พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้าย

คำประกาศเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต

งานสมัชชา สวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 15 “สวัสดิการชุมชน พลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร” มีดังนี้

1. ฟื้นฟูสังคมเอื้ออาทรการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง และสร้างความมั่นคงในชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ยากลำบาก กลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติ และสถานการณ์วิกฤติทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

2. พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน สร้างการรับรู้ “สู่การสร้างสังคม เอื้ออาทรคนภูเก็ต” ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ในการช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลแบ่งปัน สู่สังคมแห่งความสุข โดยการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา

3. ผลักดันทางนโยบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน สู่การสร้างสังคมเอื้ออาทรทั้งจังหวัด และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า” โดยการประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ

ประกาศ ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต วันที่ 31 สิงหาคม 2567