บอร์ด พอช. เห็นชอบแผนและงบประมาณ พอช. ปี 2568 ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง พร้อมเดินหน้าช่วยชุมชนบรรเทาทุกข์เร่งด่วนจากกรณีภัยพิบัติภาคเหนือ เล็งมีระบบระดมทุนช่วยเหลือยามวิกฤตระยะยาว

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) / วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมคณะกรรมการสถาบัน ครั้งที่ 9/2567 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน ทั้งระบบ Onsite และ Online ผ่านระบบ Zoom ณ ห้องประชุม 301-302 พอช.

ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันในครั้งนี้ พอช. ได้มีการเสนอแนวทางการบริหารเงินกองทุนของสถาบัน รวมถึงการเสนอแผนปฏิบัติการประจำปี 2568 และแผนปฏิบัติการดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2568-2570) ซึ่งจะต้องมีกระบวนการในการนำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อให้ พอช. เป็นองค์กรที่มีระบบเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรและชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการขับเคลื่อนดังกล่าว พอช. มีทิศทางในการส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ พร้อมเปิดพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในพื้นที่และระดับนโยบาย ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง

นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน ระบุว่า พอช. เป็นองค์กรที่ทำเรื่องการหนุนเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง อยากให้ พอช. มองถึงแผนและแนวทางการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อมูลการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนริมคลอง ชุมชนริมรางรถไฟ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อมาพัฒนาที่อยู่อาศัย มาทำเรื่องบ้านให้มั่นคง มองว่าในระยะยาว พอช. ควรศึกษาในมิติของข้อจำกัดในเรื่องการขับเคลื่อนเรื่องบ้านว่ามีอะไรบ้าง และแนวทางที่จะดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัยควรเป็นอย่างไร และมีการคิดถึงการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนมาร่วมในพัฒนารูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น มีโครงการประกวดการออกแบบที่อยู่อาศัย หรือการคิดถึงรูปแบบการบริหารชุมชนที่ชุมชนออกแบบและคิดได้ ฯลฯ โดยทำความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อมาสนับสนุนองค์กรชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และอาจจะมองต่อยอดถึงโครงการหรือพื้นที่ยากไร้ เช่น บ้านพอเพียงชนบท เป็นต้น

“การพัฒนาที่ พอช. ขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็ง หัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชน คือ การทำให้ชุมชนยืนได้ มีชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งในระยะยาว ซึ่งเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกโครงการที่ส่งเสริมให้ชุมชนลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันให้เกิดความเข้มแข็ง ช่วยเหลือกัน ใช้บ้านเป็นเครื่องมือ สร้างชุมชนขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนมาร่วมกัน โครงการต่อไปของ พอช. จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้ เกิดความงอกงาม เราอาจจะต้องเปิดวงหารือพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง”

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ภาคเหนือและความคืบหน้าในการช่วยเหลือพี่น้ององค์กรชุมชนในพื้นที่ว่า ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567 สถานการณ์ฝนตก ส่งให้ จ.แม่ฮ่องสอน เกิดดินสไลด์ น้ำท่วมไหลหลากในลำห้วยแม่ลาก๊ะ  ลำห้วยแม่โกปี่  ลำห้วยน้ำปอน และช่วงกลางเดือนสิงหาคม เกิดฝนบริเวณต้นน้ำของภาคเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม มวลน้ำได้ไหลลงในพื้นที่รับน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ 28 สิงหาคม 2567) ในช่วงเริ่มต้นขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมกับภาคีและหน่วยงานในพื้นที่ และมีกระบวนการช่วยเหลือกันใน 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน มีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือ มีการตั้งทำครัวกลางและการจัดทำถุงยังชีพ ของ 6 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย) การทำที่อยู่อาศัยชั่วคราว ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ระดมงบประมาณและสิ่งของเพื่อนำไปบริจาคตามบริบทและกลไกของพื้นที่ ระยะฟื้นฟู โดยมีการจัดรีเช็คข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตรเพื่อสำรวจความเสียหายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“พอช. โดย สำนักงานภาคเหนือ มีการลงพื้นที่เพื่อเกาะติดสถานการณ์และร่วมให้การช่วยเหลือกับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ เครือข่ายองค์กรชุมชนได้มีการช่วยเหลือกันในพื้นที่ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง และ พอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหนุนเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนได้ลุกขึ้นมาร่วมจัดการปัญหาและภัยพิบัติในรูปแบบเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน

ด้านนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน  ได้มีข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า  ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้กับสถานการณ์ภัยพิบัติที่นับวันจะทวีความรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง อยากจะ เสนอให้มีการจัดโครงสร้างหรือมองถึงหน่วยที่ทำภารกิจดังกล่าวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมถึงการจัดทำกองทุนขึ้นมา เพื่อให้เครือข่ายมีการขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจจะเชื่อมโยงถึงการใช้ระบบ Co-pin เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมรายงานสถาการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ จะทำให้เห็นถึงสภาพความเสียหาย การติดตาม และการช่วยเหลือ ซึ่งหากดำเนินการได้จะทำให้เกิดกระบวนการรายงานของพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเกาะติดสถานการณ์จริงๆ เป็นการวางระบบการจัดการภัยพิบัติ/การจัดการน้ำ

ทั้งนี้ พอช. ได้มีการอนุมัติงบประมาณด้านภัยพิบัติ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) สนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ รวม 51 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์ทำครัวกลาง สนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค และ อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ และสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนเร่งด่วน จำนวน 20 ศูนย์ และ ศูนย์จัดทำข้อมูล  31  ศูนย์  2) สนับสนุนกลไกเครือข่ายภัยพิบัติภาคเหนือ เพื่อให้เกิดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการเตรียมความพร้อม ตลอดจนแผนการป้องกัน ของขบวนองค์กรชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ ในอนาคต เช่น การสำรวจข้อมูล ความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย/ข้อมูลผลกระทบเรื่องสุขภาพ อาชีพ และการวางแผนฟื้นฟูให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในระยะกลาง ระยะยาว การช่วยเหลือด้านสุขภาพ ยารักษาโรค และเชื่อมโยงการพัฒนาและฟื้นฟูเรื่องอาชีพ หลังสถานการณ์น้ำลด ตลอดจนการประชุมความคืบหน้า เชื่อมโยง ติดตามศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม พอช. จะมีการกำหนดเกณฑ์และทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับแกนนำในพื้นที่ต่อไป”