สบพ.จัดการประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 4 (4th Aviation National Symposium)

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน เป็นประธานเปิดโครงการงานประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 4 (4th Aviation National Symposium) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สบพ.  เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการ/ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมการบิน โดยมีนักวิชาการ/นักวิจัยส่งผลงานเข้าร่วม จำนวน 10 ผลงาน และมีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงาน จำนวน 9 หน่วยงาน ในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สบพ. กรุงเทพฯ

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย กล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือน ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นสถาบันผลิตบุคลากรทางด้านวิชาชีพการบินแห่งแรกของประเทศไทย ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในวิชาชีพด้านการบินโดยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของชาติและภูมิภาคอาเซียน” ทั้งนี้ สบพ. ได้ตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ  (Mega Trend) ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบิน อาทิ ด้านการเมือง (Political) ด้านเศรษฐกิจ (Economic) ด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture) ด้านเทคโนโลยี (Technological) ด้านกฎหมายและนโยบาย (Legal & Policy) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecological)  ซึ่งการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำหลักวิชาการ มาใช้ในกระบวนการหาความรู้ หรือความจริงใหม่ที่มีระบบแบบแผนและเชื่อถือได้ ซึ่งคุณค่าที่ได้จากกระบวนการวิจัยนี้มีประโยชน์มากมาย ทั้งค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งนำมาแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง

สบพ. ได้เห็นถึงประโยชน์จากการวิจัย จึงได้ดำเนินกิจกรรมโครงการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยด้านการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้นำเสนอผลงานทางวิชาการสู่สาธารณชน และสร้างความร่วมมือทางด้านการวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการใหม่ อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมให้ธุรกิจด้านการบินของประเทศมีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีผู้สนใจในการส่งผลงานวิชาการและงานวิจัย จำนวน 10 ผลงาน ประกอบด้วย การนำเสนอในห้อง จำนวน 5 ผลงาน และการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ จำนวน 5 ผลงาน ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวอยู่ในสาขาวิชาที่ทางคณะทำงานได้กำหนดไว้ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านธุรกิจการบิน (2) ด้านการท่องเที่ยว (3) ด้านการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้(4) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (5) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (6) ด้านวิศวกรรมการบิน (7) ด้านโลจิสติกส์การบิน การเรียนการสอน และ (8) ด้านอื่นๆ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมท่าอากาศยาน สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สบพ. เป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรด้านการบินมาตลอดระยะ 64 ปี และเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านการบินในการผลิตหลักสูตรตามมาตรฐานที่กำหนด อาทิ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ในโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค รวมทั้งได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ด้านสถาบันการฝึกอบรมด้านการบิน (Approved Training Organization) และได้รับความเห็นชอบหลักสูตรระดับอุดมศึกษา จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทั้งนี้ สบพ. ยังคงทำหน้าที่ในการผลิตหลักสูตรใหม่ ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรด้านการบินให้ได้มาตรฐาน ให้มีความพร้อมในการทำงานตามที่สถานประกอบการต้องการ และเป็นศูนย์กลางงานวิชาการด้านการบินของประเทศ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป