29 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 (The 9th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project) ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์ วิว จังหวัดเชียงใหม่
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า งานวันนี้ถือเป็นหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นฐานวิทยาศาสตร์ ที่มีงานทางวิชาการ มีการแสดงการแข่งขันนวัตกรรมที่เป็นผลงานของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันจากนานาประเทศ โดยมีประเทศไทย คือ สอศ. เป็นเจ้าภาพหลัก และมีคู่แข่งที่สำคัญ คือประเทศสิงคโปร์ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยเด็กไทยโชว์ฝีมือได้ดีมาก คว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ Applied Science การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์สู่การผลิตเช่นนวัตกรรมอาหาร ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติหรือการจัดทำอุปกรณ์เพื่อความสะดวกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันแข่งขัน และได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย นับเป็นการจุดประกายให้สังคมได้เห็นถึงความก้าวหน้าของการอาชีวะของไทย
“วันนี้อาชีวศึกษาไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเป็นช่างเทคนิค ไม่ใช่เรื่องการเป็นของช่างซ่อมบำรุงเท่านั้น แต่อาชีวศึกษายังเป็นนักนวัตกรรมอีกด้วย”
นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการฐานวิทยาศาสตร์เป็นอีกมิติหนึ่งของอาชีวศึกษา เป็นแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ในการพัฒนาเด็กในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญ หรือสายอาชีวศึกษาให้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา คือจบแล้วสามารถหางานได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ เราต้องเพิ่มศักยภาพของเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะ เรื่องของภาษาเพื่อที่จะให้เด็กอาชีวะของเราพร้อมก้าวเข้าสู่การทำงานในตลาดโลก
“ขอฝากให้กำลังใจน้องๆ ทุกคนในโครงการฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างชื่อเสียงให้คนไทย ในการประกาศให้ประเทศต่าง ๆ ได้ทราบว่าอาชีวศึกษาของไทยไม่ได้ด้อยในเรื่องทักษะฝีมือ นวัตกรรม และฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังตัดสินใจอนาคตด้วยว่า อาชีวศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติ ผู้เรียนสามารถหารายได้ มีอาชีพและเป็นการเรียนที่เหมาะสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ มีรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย ทั้งอาชีวศึกษาทวิภาคี อาชีวศึกษาทวิศึกษา อาชีวศึกษาทวิวุฒิ และเป็นที่น่ายินดีที่อาชีวศึกษาทวิภาคีมีผู้เรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นถึง 70%” นายสิริพงศ์ กล่าว
สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้งโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยี ฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College :SBTC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เพื่อผลิตกําลังคนที่ มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี หรือสร้างนวัตกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักร ของอาชีวศึกษา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ ยกระดับการเรียนในสายวิชาชีพให้สอดคล้อง กับโลกดิจิทัล โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในงานอาชีพและชีวิตประจําวัน
การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นการส่งเสริม และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษากับต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตพัฒนากําลังคน ในด้านวิชาชีพ และผู้มีความสามารถพิเศษทางอาชีวศึกษา อีกทั้งเป็นการเปิดเวทีเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมและงานวิจัยในระดับนานาชาติ เผยแพร่ความก้าวหน้าของการนําเสนอโครงงานในระดับนานาชาติ ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation โดยนักเรียน/ นักศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง และนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศ โดยนักเรียนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2)
โดยในปีการศึกษา 2567 มี ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 (The 9th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project) จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่
1. สาธารณรัฐประชาชนจีน
2. สาธารณรัฐเกาหลี
3. สาธารณรัฐสิงคโปร์
4. ประเทศญี่ปุ่น
5. ประเทศไทย
มี 6 สถานศึกษา คือ 1) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) 2)วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี 3) วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี 4) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลําพูน 5) วิทยาลัยเทคนิคพังงา และ 6) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
โดยมีจํานวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 462 คน มีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมนําเสนอ รวมจํานวนทั้งสิ้น 90 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย ประเภท Engineering จํานวน 49 ผลงาน ประเภท Applied Science จํานวน 41 ผลงาน
สำหรับการพัฒนาผู้เรียนฐานวิทยาศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนากําลังคนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสําคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ