การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ เผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทยครึ่งปีแรก 2561 และแนวโน้มครึ่งปีหลัง มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียด
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำ มีปริมาณ 10.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 มีมูลค่า 318,577 ล้านบาท หรือ 10,103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และร้อยละ 13.2 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว สินค้าที่มีการส่งออกหดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ กุ้งและผลิตภัณฑ์สับปะรด เนื่องจากตลาดเกิดการแข่งขันที่รุนแรง สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์มากขึ้น ส่วนสับปะรดไทยต้องเผชิญคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน
กลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 15.4 รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (12.9%) อาเซียนเดิม (12.5%) สหรัฐอเมริกา (9.8%) แอฟริกา (9.7%) จีน (9.7%), สหภาพยุโรป (6.0%) ตะวันออกกลาง (3.7%) โอเชียเนีย (3.2%), สหราชอาณาจักร (3.0%) และเอเชียใต้ (2.8%) โดยตลาดที่มีการขยายตัวโดดเด่น คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 110.8 จากการส่งออกน้ำมันพืชไปยังประเทศอินเดียเป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 จากการกลับมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทย แอฟริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากการส่งออกข้าวเป็นหลัก และตลาดอาเซียนเดิมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากการส่งออกข้าว น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่เพิ่มสูงขึ้น
ภาพรวมการส่งออกอาหารไทย 6 เดือนแรกของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำ เพราะการแข็งค่าของเงินบาทยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าในช่วงดังกล่าว ประเมินว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 507,844 ล้านบาท หรือ 15,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 10.3 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทย 6 เดือนหลังของปี 2561 (ก.ค.-ธ.ค.) คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการส่งออกเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรก ส่วนการผลิตและการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง แนวโน้มการผลิตและการบริโภค คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย ประเมินว่าจะมีมูลค่าส่งออก 562,156 ล้านบาท หรือ 17,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และร้อยละ 9.8 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
“ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยทั้งปี 2561 การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 1,070,000 ล้านบาท หรือ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 10.0 ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์ ตามลำดับ คาดว่าสินค้าที่จะขยายตัวดีในรูปดอลลาร์ ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป แป้งมันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนสินค้ากุ้ง น้ำตาลทราย และสับปะรด มีแนวโน้มส่งออกลดลง โดยในครึ่งปีแรกภาคธุรกิจมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนในครึ่งปีหลังการผลิตและการบริโภคจะถูกแรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกในครึ่งปีหลังจะคลายตัวจากการแข็งค่าของเงินบาท”
ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกปีนี้เป็นร้อยละ 3.9 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.5 2) ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยเพียงพอต่อความต้องการแปรรูป และ 3) รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกเชิงรุก มีมาตรการเพิ่มช่องทางการค้าต่างๆ สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1) สถานการณ์การเมืองโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง 2) ความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยสูญเสียรายได้สูงถึง 80,000 ล้านบาท 3) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูง และ 4) ภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สินค้ากลุ่มที่การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออก 7,500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด(+10%ต่อปี) บิสกิตหวาน 4,400 ล้านบาท(+15%ต่อปี) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน 4,000 ล้านบาท(+10%ต่อปี) ไอศกรีม 2,500 ล้านบาท(15%ต่อปี) สารสกัดสมุนไพร 1,200 ล้านบาท (+40%ต่อปี) ซึ่งส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในอาเซียน CLMV ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ไต้หวัน อินเดีย และอียู เป็นต้น ทั้งนี้ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมทาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้ยกระดับมาตรฐานสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์โดยการจับคู่ธุรกิจ(Business Matching) และออนไลน์โดยการขายผ่านช่องทาง E-Commerce เป็นต้น”