วันที่ 27 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ในการนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงความเป็นมาของความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมี นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูล เชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ผศ.ดร.วราภรณ์ พรหมวิกร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นายนิเวช มิ่งมิตรโอฬาร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ณ เวที Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการคุ้มครองส่วนบุคคลของประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการคุ้มครองส่วนบุคคล
ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อคุ้มครองและระบบดิจิทัล การวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรับมือภัยคุกคามต่าง ๆ ด้วยระบบตรวจจับภัยคุกคามที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การวิจัยยังช่วยในการพัฒนาแนวทางการป้องกันและฟื้นฟูที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสู่การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต
บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองส่วนบุคคลของประเทศไทยในอนาคต ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 องค์กรจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรบุคคลในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และการคุ้มครองส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยด้วยวิจัยและนวัตกรรม