“ทวี สอดส่อง” เปิดประชุมนานาชาติพัฒนา “นิติวิทยาศาสตร์ นิติเวชศาสตร์” ค้นหาความจริงผ่านตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 30 ประเทศ จากยุโรปและสหรัฐฯ ชี้ ประเด็นท้าทาย เปิดสถาบันฯระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชน ขจัดภัยอาชญากรรม
วันที่ 27 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Forensic Sciences Network : AFSN) ครั้งที่ 16 และ การประชุมเครือข่ายองค์การรัฐที่ให้บริการด้านนิติเวชศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia Pacific Medico-Legal Agencies : APMLA) ครั้งที่ 12 ที่จัดโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยมี พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทันตแพทย์หญิงจุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานในพิธี กล่าวเปิดงานว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานในครั้งนี้ ซึ่งจะมีผู้แทนเข้าร่วมงานจากประเทศสมาชิกเครือข่าย ผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศในทวีปยุโรป และสหรัฐฯ กว่า 30 ประเทศ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความก้าวหน้าด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์สูงสุด
คำกล่าวที่ว่า “เมื่อความจริงปรากฏ ความโชคร้ายจะหายไป” ซึ่งในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน หรือ ที่เรียกว่า “การค้นหาความจริง” นั้นข้อเท็จจริงทางนิติวิทยาศาสตร์และด้านนิติเวชเป็นข้อเท็จจริงที่มีความมั่นคงในความน่าเชื่อถือ โดยต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีในการตรวจพิสูจน์ และมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูหลักนิติธรรม(Rule of Law) การปฏิรูปประเทศกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ล่าช้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม
ปัจจุบัน ประเทศไทยมี “รัฐธรรมนูญ” ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งในหมวดการปฏิรูปประเทศตามกระบวนการยุติธรรมและบัญญัติว่า “…จัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 หน่วยที่เป็นอิสระจากกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก…” นอกจากนั้นยังมี “…กำหนดให้การสอบสวนคดีอาญาต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์…” ด้วย
สิ่งท้าทายที่อยากเห็นจากความร่วมมือในระดับเครือข่าย คือ น่าจะถึงเวลากับการเปิดสถาบันด้านนิติวิทยาศาสตร์และด้านนิติเวช ตั้งแต่ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่จะประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ทางวิชาการและการวิจัย ที่จะมาช่วยในการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 60% ของประชากรโลกที่คาดว่ามีประมาณ 4.7 พันล้านคน เพื่อให้ได้เข้าถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จากประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านมนุษยธรรม ด้านการปกป้องคุ้มครองประชาชนให้พ้นภัยจากอาชญากรรมและยาเสพติด การทรมาน การอุ้มหาย การวิสามัญฆาตกรรม ระบบการพิสูจน์การเสียชีวิตในสถานที่คุมขัง การเสียชีวิตในสถานการณ์ข้อพิพาท ทางอาวุธ หรือการเสียชีวิตจากภัยพิบัติธรรมชาติ บนความมุ่งมั่นให้ “ระบบยุติธรรม” มีความเป็นธรรมตามความเป็นจริง ที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
นอกจากนี้ เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย ยังได้แบ่งผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ ออกเป็น 10 กลุ่ม เพื่อการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เฉพาะด้าน นำไปสู่ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
การประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้เห็นความก้าวหน้าในด้านนิติวิทยาศาสตร์และด้านนิติเวช สิ่งที่ช่วยกันยกระดับคุณภาพความน่าเชื่อถือ และการยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่อยู่บนหลักการของบริการนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวช ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
ด้านนายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคเอเชีย(AFSN) ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) โดยวางเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนานิติวิทยาศาสตร์ร่วมกันในประเทศแถบเอเชีย ผ่านการประชุมวิชาการและสัมมนา โดยเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและนักนิติวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในสาขานิติวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังได้แสดงบทบาทเชิงรุกในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายองค์การรัฐที่ให้บริการด้านนิติเวชศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (APMLA) องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปีค.ศ.2012(พ.ศ.2555) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนิติวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมสำหรับการตอบสนองต่อภัยพิบัติขนาดใหญ่ และส่งเสริมคุณภาพของบริการนิติเวชศาสตร์เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมบนระบบยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ
การจัดโครงการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และพันธกิจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนามาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความยุติธรรม หลักมนุษยธรรม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ