กรมประมงผนึกกำลังองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และนิสิตนักศึกษา ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง และผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเพิ่มขีดความสามารถในด้านการค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเด็นของการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก และแนวโน้มปัจจุบันของการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลก รวมทั้งโอกาสในเส้นทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าสัตว์น้ำ
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานว่า…องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) เป็นองค์การชํานาญพิเศษที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นตามมติของสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2488 เพื่อเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมงให้ประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบการกำหนดนโยบายด้านการเกษตร โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 49 ของ FAO เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ปัจจุบันมีสมาชิก 194 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีฐานทรัพยากรประมง และมีศักยภาพในการผลิตสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศยังต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน อาทิ มาตรการด้านภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษีเข้ามาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการค้าสินค้าสัตว์น้ำระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามที่ควร ดังนั้น กรมประมงในฐานะประเทศสมาชิก จึงได้ร่วมมือกับ FAO จัดฝึกอบรมหลักสูตร “การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมพะยูน ชั้น 7 อาคารจุฬาภรณ์ และผ่านระบบออนไลน์ ให้กับผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และนิสิตนักศึกษา ซึ่งการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 : สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปปรับใช้กับการดำเนินภารกิจกำกับดูแลเกี่ยวกับการค้าของประเทศ รุ่นที่ 2 : สำหรับบุคลากรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับทราบถึงแนวโน้ม โอกาส และความท้าทายในการเข้าถึงตลาดสินค้าสัตว์น้ำระหว่างประเทศทั่วโลก และรุ่นที่ 3 : สำหรับกลุ่มนิสิตนักศึกษา เพื่อให้ได้รับทราบถึงโอกาสทางอาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าสัตว์น้ำ
อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า…สำหรับการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการบรรยายให้ความรู้ การฝึกปฏิบัติ การถามตอบ และการประเมินหลังฝึกปฏิบัติ โดยมีวิทยากรจาก FAO องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดด้านการค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาถ่ายทอดความรู้เชิงลึก ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ แนวโน้มการผลิตและการค้าโลก การค้าระหว่างประเทศและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบระดับโลก เครื่องมือระหว่างประเทศในการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ การเข้าถึงตลาดด้วยการกำหนดลักษณะการค้า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและอุปสรรคทางเทคนิคการค้า เป็นต้น ทั้งนี้ กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเพิ่มขีดความสามารถในทุกประเด็นด้านการค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเด็นความท้าทายและอุปสรรคที่มีความซับซ้อนของการค้าทั่วโลก รวมทั้งได้ทราบถึงแนวโน้มปัจจุบันของการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลก และโอกาสในเส้นทางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าสัตว์น้ำ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ และผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยต่อไป