จากการลงพื้นที่สำรวจวิจัยพะยูน ของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ เครือข่ายสัตว์ทะเลหายากจังหวัดภูเก็ต พบพะยูน จำนวน 2 ตัว บริเวณท่าเทียบเรือราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีพฤติกรรมหาอาหารบริเวณแหล่งหญ้าทะเล กรมทะเล จึงได้ เร่งประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ เกี่ยวกับแนวทางการจัดการและการดูแลพะยูนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเหตุกรณีที่พบพะยูนดังกล่าว รวมทั้งขอความร่วมมือในการลดการใช้เครื่องมือประมง และการควบคุมการจราจรทางเรือที่อาจจะเป็นอันตรายต่อพะยูน และการจัดการขยะทะเลในพื้นที่บริเวณหาดราไวย์ นั้น
ล่าสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เผยว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันดามันตอนบน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พะยูน บริเวณพื้นที่ตำบลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต พบว่า พะยูนตัวที่ 1 มีความยาวลำตัวประมาณ 2.2 เมตร และพะยูนตัวที่ 2 มีความยาวลำตัวประมาณ 2.5 เมตร ซึ่งพะยูนทั้งสองตัว มีความสมบูรณ์ ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ดี มีการว่ายน้ำปกติและทรงตัวได้ดี มีอัตราการหายใจ 3-5 ครั้ง/5 นาที ทั้งนี้ ยังพบว่าพะยูนทั้ง 2 ตัว มีรอยบาดแผลที่เกิดจากรอยเขี้ยวบริเวณหลังเกิดจากพฤติกรรมภายในฝูงของพะยูน ซึ่งในวันนี้ พบพะยูนเพิ่มอีก 1 ตัว ความยาวลำตัว ประมาณ 1.7- 2 เมตร รวมเป็น 3 ตัว หากินในพื้นที่เป็นแหล่งหญ้าทะเลทั้งซ้ายและขวาของสะพานราไวย์ เจ้าหน้าที่ ทช. จึงได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ UAV และ Drone ออกบินสำรวจอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถทราบจำนวนการแพร่กระจายของพะยูนและจัดทำแผนที่หญ้าทะเล รวมถึงแผนที่ความเสี่ยงที่อาจเกิด อุบัติเหตุ จากการสัญจรทางเรือ การทำประมง รวมไปถึงปัญหาขยะทะเล น้ำเสีย และอื่นๆ เพื่อทำแนวทางการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ รวมถึงการเก็บข้อมูลร่วมกับท้องถิ่น เพื่อวางแผนดูแลพะยูนกลุ่มนี้ให้มีแหล่งที่อยู่ที่ปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นบ้านหลังใหม่ของกลุ่มพะยูนที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีนี้ที่หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันดูแล ปกป้อง รักษา ทรัพยากรทางทะเลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางสีน้ำเงิน (Blue economy)
ทั้งนี้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ได้ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เรื่อง ให้ระมัดระวังการเดินเรือ โดยขอให้นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ งดหรือหลีกเลี่ยงระมัดระวังการเดินเรือ ในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และพื้นที่เสี่ยงในการอพยพเคลื่อนย้ายพะยูน ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคาม หรือหากจำเป็นให้ใช้ความเร็วเดินเรือไม่เกิน 3 น็อต ในบริเวณพื้นที่รอบสะพานท่าเทียบเรือราไวย์ โดยนับจากสะพานดังกล่าวออกไปเป็นระยะ 200 เมตร ซึ่งหากมีการพบเห็นพะยูนหรือสัตว์ทะเลหายาก นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องใช้ความเร็วต่ำและด้วยความระมัดระวัง ให้เรืออยู่ในการควบคุมได้ และต้องเว้นระยะห่างเรือกับพะยูนหรือสัตว์ทะเลหายาก ในระยะที่ปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ออกมาตรการในระยะเผชิญเหตุการณ์ คือ ลดความเสี่ยงในพื้นที่ ลดการวางเครื่องมือประมงทุกชนิดรวมถึงลดกิจกรรมการใช้เครื่องมือประมงที่มีความเสี่ยงต่อพะยูนในบริเวณท่าเทียบเรือหาดราไวย์ การเฝ้าระวังและลาดตะเวน การควบคุมการจราจรทางเรือ และการจัดการขยะทะเล และอีก 1 มาตรการ คือมาตรการในระยะยาว ประกอบด้วย การวางแผนช่วยเหลือ คือ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังการช่วยชีวิตพะยูน มาตรการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล คือ การวางทุ่นกำหนดพื้นที่โซนนิ่งในการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล กำหนดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ แก่ประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่ง และเปิดให้แจ้งเหตุกรณีพบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ได้ที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร หรือโทรแจ้งสายด่วนได้ที่ หมายเลข 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเลตลอด 24 ชั่วโมง