สวรส. – สรพ. และองค์กรเครือข่ายรวม 24 องค์กร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ หวังจัดลำดับความสำคัญและวางแผนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ ลดการทำงานซ้ำซ้อน รวมทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยให้มากที่สุด ด้านผู้อำนวยการ สรพ.ชี้ งานวิจัยจะเป็นคำตอบว่าการขับเคลื่อนการรับรองคุณภาพภาพที่ผ่านมาได้ผลลัพธ์อย่างไร และควรพัฒนากลไกสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยอย่างไรในอนาคต
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และเครือข่ายหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพ รวมทั้งหมด 24 องค์กร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) “การวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์” ในงานประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2567 ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทยด้วยงานวิจัยคุณภาพ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงความร่วมมือในการจัดระบบสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ที่มี สวรส. เป็นหน่วยงานกลาง (Focal point) ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ เพื่อร่วมกันกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของโจทย์ด้านระบบสุขภาพที่สำคัญ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น งบประมาณวิจัยที่ได้รับการสนับสนุน หรือให้การสนับสนุนกรอบประเด็นวิจัย เป็นต้น เพื่อให้คณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ร่วมกันกำหนดขึ้นนำมาวิเคราะห์ วางแผนสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งจะเป็นการลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ จะมีการร่วมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพตามบทบาทภารกิจของหน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตลอดจนร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์การจัดตั้ง สรพ. คือการรวบรวมข้อมูล การสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพ คุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสะท้อนการพัฒนาคุณภาพในระบบสุขภาพ อย่างไรก็ดี สรพ. ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวิจัย ดังนั้น ถ้าต้องทำงานวิจัยหรือขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย ก็ต้องจับมือกับองค์กรที่เชี่ยวชาญและมีช่องทางในการสนับสนุนงานวิจัยได้ ทำให้เกิด eco-system หรือระบบนิเวศน์ของการทำงานร่วมกันขององค์กร โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อประชาชน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันครั้งนี้ก็เพื่อระบบสุขภาพที่ดีสำหรับประชาชนนั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว เนื่องจาก สรพ. เป็นองค์กรที่เกิดจากงานวิจัย เราจึงเห็นความสำคัญของการใช้ประโยน์จากงานวิจัยในด้านต่างๆ เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ทุกองค์กรต่างมีปัญหาและความท้าทายในเชิงระบบการทำงาน การจะหาคำตอบหรือวิธีการทำงานก็ต้องใช้งานวิจัยก็จะเป็นคำตอบ หรือในส่วนของ สรพ. เอง ได้ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่จะสะท้อนให้สังคมและประชาชนรับรู้ว่าคุณค่าและความหมายของการรับรองคุณภาพภาพเป็นอย่างไร ต้องใช้งานวิจัยในการอ้างอิง รวมทั้งในอนาคตก็จะเกิดการวิจัยในเชิงการพัฒนาระบบว่าการมีกลไกบางอย่างเกิดขึ้นทำให้ประชาชนได้รับคุณภาพและความปลอดภัยจากระบบบริการอย่างไร เป็นต้น
“สรพ. พัฒนาเรื่องการรับรองคุณภาพ แต่ปัจจุบันประชาชนเข้าไปรับบริการแล้วยังเกิดคำถามว่ามีคุณภาพ มีความปลอดภัยจริงหรือไม่ ดังนั้น เราก็ต้องหาคำตอบด้วยงานวิจัย ซึ่งมันอาจไม่เห็นผลลัพธ์ทันที แต่ถ้าดูในเชิงข้อมูลสถิติ ข้อมูลเชิงวิจัย เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ชัดเจนมากขึ้น” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ องค์กรที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง 24 องค์กร ประกอบด้วย 1.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. 3.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 4.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 5.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) 6.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS 7.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 8.หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 9.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 10.กรมอนามัย 11.กรมการแพทย์ 12.กรมควบคุมโรค 13.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 14.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 15.กรมสุขภาพจิต 16.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 17.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 18.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 19.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) 20.สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) 21.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 22.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) 23.มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) และ 24.มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)