กรมชลฯ กางแผนบริหารจัดการน้ำ เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย 5 จังหวัด ภาคใต้ตอนบน (ฝั่งอ่าวไทย-ฝั่งอันดามัน)

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 15 นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 15 (จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต) โดยมี นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการโครงการ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และแผนรับมืออุทกภัยในพื้นที่

สำหรับสถานการ์ณน้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต ปัจจุบัน (20 ส.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวม 132.10 ล้านลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 146.57 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีปริมาณน้ำรวม 3.47 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 1.684 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยได้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง สำนักงานชลประทานที่ 15 จึงได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยนำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์มาเป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้า นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถแทร็คเตอร์ รถบรรทุก ตลอดจนเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลัก 5 สาย ที่ผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ 1.คลองคูพาย 2.คลองสวนหลวง 3.คลองป่าเหล้า 4.คลองนครน้อย 5.คลองท่าซัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ และกำหนดจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำช่วยเร่งระบายน้ำ ในพื้นที่ เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด และได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน พนังกั้นน้ำ และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนให้มีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง