กรมประมง เดินหน้า เพิ่มรุ่นฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้ควบคุมเรือประมงไทยหรือไต๋เรือ หลักสูตร ผู้ควบคุมเรือประมงไทยเพื่อการทำการประมงที่ยั่งยืน “ไต๋รักษ์ชาติ รุ่นที่ 2” ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม แคนทารี บีช เขาหลัก จังหวัดพังงา เพื่อส่งเสริมให้ผู้ควบคุมเรือประมงไทยหรือไต๋เรือฝั่งทะเลอันดามันเกิดความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล กฎหมายประมง ประกาศ และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพทางอาชีพประมงให้มีมาตรฐานสากล สู่การเป็น “Smart Master Fisher” เพื่อการทำการประมงที่ยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…การทำการประมงพาณิชย์ฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เป็นการทำการประมงเพื่อรองรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงปริมาณไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันในแต่ละปี โดยสถิติการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์ในปี 2566 พบมีปริมาณการจับสัตว์น้ำรวม 1,069,516 ตัน คิดเป็นมูลค่าของสัตว์น้ำ 43,596 ล้านบาท โดยมีจำนวนเรือประมงพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงรวม 9,310 ลำ (ณ เดือนธันวาคม 2566) ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการบริหารและจัดการประมง และเกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดการกระทำผิดโดยมิได้ตั้งใจ รวมถึงการเพิ่มพูน ความรู้ ทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำการประมงระหว่างผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือ รวมทั้งเชิดชูเกียรติของไต๋เรือ ผู้ซึ่งเสียสละและอดทนประกอบอาชีพประมง เพื่อหาสัตว์น้ำหล่อเลี้ยงผู้บริโภคปลาทั้งโลก ให้มีเกียรติได้รับการยอมรับ เป็นผู้มีใจรักษ์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงและช่วยดูแลลูกเรือผู้ร่วมอาชีพให้สามารถทำการประมงได้อย่างรู้คุณค่า เพื่อส่งต่อความยั่งยืนของทรัพยากรไปยังคนรุ่นถัดไป
การจัดฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทยเพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน “ไต๋รักษ์ชาติ รุ่นที่ 1” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมคามิโอแกรนด์ จังหวัดระยอง เพื่อให้การฝึกอบรมให้แก่ผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือที่ทำการประมงในฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง โดยการฝึกอบรมครั้งนี้มี ผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือ และเจ้าของเรือ ให้ความสนใจและเข้าร่วมฝึกอบรมรวม 53 ราย มีการทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ มาตรฐานด้านสุขอนามัยเรือ การจัดการและมาตราการอนุรักษ์ต่าง ๆ ทีเกี่ยวข้อง ทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทุกท่านมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นภายหลังการเข้ารับฝึกอบรม และมีความพึงพอใจในหลักสูตรการฝึกอบรมในระดับสูง มีความเข้าใจในกระบวนการจัดการประมงของภาครัฐดียิ่งขึ้น และมีความเห็นพ้องให้มีการขยายการจัดฝึกอบรมในลักษณะเช่นนี้ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และสร้างเสริมทักษะ ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ ให้ผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือ รวมถึงหลักสูตรฯ ดังกล่าวสามารถสร้างความรู้สึกความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพผู้ควบคุมเรือ หรือไต๋เรือเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายของชาวประมงร่วมกัน
กรมประมงในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก จึงเดินหน้า เร่งรัด ให้มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตร ผู้ควบคุมเรือประมงไทยเพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน “ไต๋รักษ์ชาติ รุ่นที่ 2” เพื่อรองรับ ผู้ควบคุมเรือประมง (ไต๋ก๋งเรือ นายเรือ กัปตันเรือ) และชาวประมงที่สนใจ ในพื้นที่เขตทะเลฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล โดยการจัดฝึกอบรมในรุ่นนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม แคนทารี บีช เขาหลัก จังหวัดพังงา และมีผู้สนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 50 ราย ภายในหลักสูตรการฝึกอบรมจะประกอบด้วยหัวข้อวิชาต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ มาตรการการจัดการด้านการประมง กฎหมายประมงที่ผู้ควบคุมเรือควรทราบ กระบวนงานภาครัฐในขั้นตอนการออกทำการประมง มาตรฐานเรือและคนประจำเรือประมง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล การจัดการประมงทะเล เป็นต้น ตลอดจนมีการฝึกปฏิบัติและการถอดบทเรียนร่วมกัน ซึ่งมีวิทยากรภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และศรชล. และภาคเอกชน ได้แก่ หน่วยงาน Seafood Task Force ที่ให้การสนับสนุนวิทยากร เพื่อฝึกสอนการกู้ชีพและกู้ภัยให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมอีกด้วย
โดยการฝึกอบรมในครั้งนี้ได้มอบหมายให้นายสุชาติ แสงจันทร์ ผู้ตรวจราชการกรม เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกับเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ไต๋แห่งชาติ เพื่อการประมงไทยที่ยั่งยืน” ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นอกจากนี้ การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนายจุมพล สงวนสิน อดีตอธิบดีกรมประมง และที่ปรึกษากรมประมง ด้านการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ผู้ควบคุมเรือกับการมีส่วนร่วมพัฒนาการประมง” และนายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 อีกด้วย
อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายว่า…กรมประมงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ควบคุมเรือประมง ทั้งไต๋ก๋งเรือ นายเรือ กัปตันเรือ และชาวประมง ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีเกียรติ มีคุณค่า และมีศักดิ์ศรี ในฐานะ “ผู้หาปลาเลี้ยงคน ผู้สร้างความมั่นคงทางอาหาร” ให้มีองค์ความรู้ครอบคลุมทั้งในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความปลอดภัยในทะเล การทำการประมง การใช้ประโยชน์และดูแลรักษาสัตว์น้ำ เพื่อสร้างมูลค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีแผนในอนาคตที่จะดำเนินการ จัดฝึกอบรมในพื้นที่เขตทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนล่างต่อไป