อย. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทุกระดับที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจให้ประเทศ
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีมีสื่อบางสำนักกล่าวถึง อย. ว่า “ตั้งมาตรฐานโรงงานยาสมุนไพรเพื่อเอาใจนายทุนต่างชาติและเป็นการทำลายธุรกิจในประเทศ” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย. ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถานที่ผลิต โดยได้มีการแบ่งการกำกับดูแลตามความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตใน 3 ระดับ ได้แก่
1) มาตรฐาน PIC/S GMP สำหรับผู้ผลิตที่มีความประสงค์จะส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ในระดับสากล เช่น สหภาพยุโรป สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งมีความสมัครใจที่จะยกระดับมาตรฐานสากล จำนวน 57 แห่ง
2) มาตรฐาน ASEAN GMP สำหรับผู้ผลิตที่มีความประสงค์จะส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยเกณฑ์การประเมินจะมีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรฐาน PIC/S GMP และ
3) มาตรฐานการประเมินสถานที่ผลิตที่มีความเสี่ยงต่ำขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ผลิตที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายย่อยอื่น ๆ ในประเทศไทย ที่ประสงค์จะผลิตเพื่อขายภายในประเทศและชุมชนเท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อย. ได้จัดทำแนวทางการส่งเสริมให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยใช้เกณฑ์การประเมินขั้นพื้นฐานที่ไม่เข้มงวด แต่ยังสามารถสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของกระบวนการผลิตแก่ผู้บริโภคได้ และผู้ประกอบการสามารถพัฒนายกระดับมาตรฐานสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้สูงขึ้นได้ในภายหลัง นอกจากนี้ อย. ยังมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการที่จะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้เข้าใจการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดผ่านการอบรมในรูปแบบ E-Learning ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการอบรมได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
เลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทุกระดับ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ และสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงยาสมุนไพรได้อย่างสะดวกและทั่วถึง