ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมระดับสูงของเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 14 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู สนับสนุนเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันที่ 18 สิงหาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ (APEC High-Level Meeting on Health and the Economy) ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อหลัก “ความครอบคลุมด้านสุขภาพ : เส้นทางสู่ศักยภาพและการเติบโตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สนับสนุนแนวคิดหลักของการประชุมเอเปค ประจำปี 2567 ว่าด้วย “การเสริมสร้างอำนาจ การรวมกลุ่ม และการเติบโต” ซึ่งมีรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้แทนระดับสูงจากเขตเศรษฐกิจเอเปค 21 ประเทศ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชนกว่า 100 คน เข้าร่วม
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ตนได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายสาธารณสุขของประเทศไทย แบ่งปันประสบการณ์และผลสำเร็จของประเทศไทยในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน เตรียมพร้อม และรับมือกับโรคระบาดและภัยสุขภาพที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติในอนาคต การส่งเสริมบทบาทและความเท่าเทียมทางเพศภาวะเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ เสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมทั้งด้านสุขภาพจิต การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพปฐมภูมิ การส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันตลอดช่วงชีวิต การให้ความรู้ด้านสุขภาพ และการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนด้านสุขภาพในระบบสาธารณสุข ซึ่งได้รับความชื่นชมจากที่ประชุมอย่างมาก โดยในช่วงท้ายของการประชุมฯ ได้มีการรับรองถ้อยแถลงการประชุมระดับสูงของเอเปคฯ สนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยคณะผู้แทนยังได้เข้าร่วมการประชุมหารือนโยบายสุขภาพของผู้หญิงในเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค เพื่อเสริมสร้างอำนาจ รวมกลุ่ม และเติบโต ซึ่งมีผู้แทนกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นผู้บรรยาย หัวข้อ “การจัดลำดับความสำคัญด้านสุขภาพสตรีในเอเปค และครอบครัวอัจฉริยะเอเปค” และเข้าร่วมประชุมคณะทำงานด้านสุขภาพของเอเปค [APEC Health Working Group (HWG)] ครั้งที่ 2/2567 ระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2567 หารือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาสุขภาพที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกและโรคเขตร้อน การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ การกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกในเขตเศรษฐกิจเอเปค การดูแลอย่างครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต การเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพเพื่อระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สุขภาพจิตชุมชน การแพทย์แผนไทยในระบบการดูแลสุขภาพ ผลกระทบของสุขภาพต่อเศรษฐกิจ การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่เหนือกว่าประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น