กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนหวั่นเสี่ยงโรคติดต่อช่วงน้ำท่วม แนะวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงน้ำ และเน้นย้ำปฏิบัติตามคู่มือ “รื้อ ล้าง หลังน้ำลด”
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้มอบหมายให้ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก บางพื้นที่ประชาชนขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเครื่องยังชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขับถ่ายอุจจาระและการทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มีเชื้อโรคปะปนอยู่ เสี่ยงทำให้เกิดโรคติดต่อ และหากนำน้ำที่ท่วมขังมาล้างอาหาร จานชามหรืออุปกรณ์ ประกอบอาหาร เชื้อโรค จะเข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น ดังนั้น วิธีป้องกันตนเองให้พ้นจากโรคระบบทางเดินอาหารในช่วงน้ำท่วมคือ ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากอุจจาระและขยะด้วยการขับถ่ายในห้องส้วมที่ยังสามารถใช้การได้ ขอให้ขับถ่ายอุจจาระในถุง ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อนแล้วปิดปากถุงให้แน่น หากไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้รัดปากถุงให้แน่นแล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป โดยขอความร่วมมือประชาชนไม่ถ่ายอุจจาระและทิ้งขยะลงไปในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วง
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องนำน้ำที่ท่วมขังมาอุปโภคบริโภคนั้น ก่อนนำน้ำมาใช้ควรตักใส่ภาชนะ ถ้าน้ำขุ่นให้ใช้สารส้มชนิดก้อนที่ได้รับบริจาคกวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัวนำสารส้มออก ใช้มือกวนน้ำต่อ 1-2 นาทีทิ้งไว้จนตกตะกอนที่ได้มาใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ใส่คลอรีนชนิดผง ½ ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันรินเฉพาะส่วนที่ใสผสมในอัตราส่วน ต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 30 นาที เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำและส่วนที่หลงเหลืออยู่สลายตัวไป ส่วนบางพื้นที่ที่สามารถปรุงประกอบอาหารได้ ก่อนที่จะนำน้ำมาดื่มต้องต้มให้เดือดก่อนหรือหากต้องการฆ่าเชื้อโรคในภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น จาน ชาม หม้อ กระทะ ให้ใช้คลอรีน 1 ช้อนชา (ผสมกับน้ำ 1 แก้ว รินเฉพาะส่วนที่ใส) ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่นาน 2 นาที ก่อนที่จะนำภาชนะเหล่านั้นมาใช้อย่างปลอดภัยเพื่อความสะดวกกรมอนามัยได้ผลิตคลอรีนชนิดน้ำ 2 เปอร์เซ็นต์ (หยดทิพย์) ใช้หยดลงในน้ำ สำหรับดื่ม 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตรทิ้งไว้ 30 นาที
“ทั้งนี้ สิ่งของที่มีผู้บริจาคไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ก่อนจะบริโภคควรสังเกตวันหมดอายุ หรือดูสภาพ สี กลิ่น และภาชนะบรรจุของน้ำดื่มและอาหารนั้นๆ ก่อนบริโภค โดยในพื้นที่ที่สามารถปรุงประกอบอาหารได้ ก็ควรนำมาอุ่นให้ร้อนหรือผ่านการปรุงสุกเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อบริโภคเข้าไปจะไม่ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือเกิดโรคที่เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารตามมา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์ประสิทธิ์ สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ได้เร่งดำเนินการจัดทีมนักวิชาการกระจายลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการ ดูแลสุขภาพตนเองให้ปลอดภัยปลอดโรค พร้อมได้นำสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่ายประชาชน อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คู่มือประชาชนฉบับพกพา และคู่มือ “รื้อ ล้าง หลังน้ำลด” ซึ่งเน้นข้อปฏิบัติตนให้ปลอดภัยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมแนะ 5 ทางรอดปลอดโรค ประกอบด้วย 1) อย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหารลงในน้ำ ให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น 2) อย่าเล่นน้ำเน่าขัง เชื้อโรคอาจเข้าตาปากจมูกและบาดแผลอันตรายถึงตาย 3) กินอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด 4) หลังน้ำลด ล้างบ้านเรือน ห้องสุขา ภาชนะอุปกรณ์ต่าง ๆ และ 5) ช่วยกันล้างตลาด ประปา ชุมชน และสถานที่สาธารณะตามหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคทางเดินอาหาร
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / กันยายน 2562