วันที่ 16 สิงหาคม 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “ร่วมใจเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน เข้าร่วม ณ พระราชวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆ ให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยเพื่อสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและขับเคลื่อน Soft Power การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมุ่งยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติเพื่อเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น วธ.จึงจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ วันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคเหนือ วันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2567 ณ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางและภาคตะวันออก วันที่ 22 – 26 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 5 – 9 กันยายน 2567 ณ ลานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า สำหรับงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “ร่วมใจเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2567 ณ พระราชวังจันทน์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงแสง เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ “เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ชุด “ทวยราษฎร์น้อมสดุดี พระบารมีพระบรมไตร” การแสดงศิลปะพื้นบ้านของเครือข่ายสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก การแสดงชุด ชาวล้านนาฮอมใจ น้อมไหว้สาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจากลูกศิษย์แม่บัวเรียว ศิลปินแห่งชาติ การแสดงชุดม่านฟ้าเวียงพิงค์และการแสดงชุดนันทเภรีก้องฟ้า กลองล้านนามหามงคลจากสมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา การแสดงของสมาคมลิเกจังหวัดพิษณุโลก การแสดงโขนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามราชสุริยวงศ์ “ธรรมะ ย่อมชนะ อธรรม” การแสดงโฟล์คซองคำเมือง วงกลิ่นเอื้องเสียงซึงของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม การแสดงของศิลปินพื้นบ้านภาคเหนือและสถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก การแสดงมังคละจากชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก การแสดงดนตรีสากล ดนตรีลูกทุ่งจากสถานศึกษาและกองกำลังมณฑลทหารบกที่ 39 เป็นต้น
นอกจากนี้ มีถนนสายวัฒนธรรมเลียบวัดเคียงวัง การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) และผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ เช่น อาหาร ผ้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ ผลิตภัณฑ์จักสาน โรงหมอยา บริการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ถ่ายรูปจุดเช็คอินทุ่งไฟประดับและขอเชิญชวนประชาชนแต่งกายย้อนยุคเที่ยวชมงาน
“งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทยทั้ง 4 ภูมิภาค ทำให้คนไทยแต่ละภาคได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและเสริมพลังความเข้มแข็งของสถาบันหลักของชาติ ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย ทำให้เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมสืบสานอนุรักษ์ไว้ นำทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มศิลปิน ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรม รวมถึงผู้ประกอบการด้านอื่นๆในพื้นที่จัดงานและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์และวิถีชุมชนให้เกิดการรับรู้และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนให้มากขึ้น” ปลัด วธ. กล่าว