รวมพลังเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชน “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” หนุนสวัสดิการแนวใหม่ชุมชนผสานพลังภาคี

เชียงราย/เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ ร่วม กระทรวง พม.  พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค   “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย” ที่จังหวัดเชียงราย ชูประเด็นรูปธรรมการจัดสวัสดิการชุมชนดูแลคนในชุมชนและสังคม และประกาศเจตนารมณ์อาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

วันที่ 16 สิงหาคม2567 เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ จัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย โดยมีผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน ผู้แทนกองทุนที่ได้รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น จากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนหน่วยงานภาคี ผู้แทนภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมงานสมัชชาฯ กว่า  500 คน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย  ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ที่ปรึกษา รมว.พม. กล่าวว่า การดำเนินงานสวัสดิการชุมชนของผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้ามาโดยตลอดและเป็นขบวนองค์กรชุมชนที่ร่วมสร้างพลังทางสังคม ในการสร้างให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำนโยบายการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทยสู่การปฏิบัติ

รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย และการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการพัฒนา สร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคม ซึ่งจากการระดมความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรไทย พบว่า 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือการสร้างระบบนิเวศ (Eco system) ที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัวคือการสร้างชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกช่วงวัย (Community For All) ทั้งความปลอดภัย ความเป็นมิตร และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเครือข่ายสวัสดิการชุมชนถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศ ในครั้งนี้

ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย  ในฐานะเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองต้นแบบการจัดสวัสดิการทุกช่วงวัยของประเทศ ตามนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เมืองแห่งศิลปิน ดินแดนแห่งศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีล้านนาที่งดงาม และสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์กว่า ๓๐ ชาติพันธุ์ ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด และอีก ๑๔๓ ท้องถิ่น และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาจังหวัด “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ วิถีถิ่นร่วมสมัย เกษตรกรรมมูลค่าสูง สิ่งแวดล้อมสมดุล มุ่งสู่ความยั่งยืน”    ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมมีสุข คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้น สวัสดิการชุมชน จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จังหวัดให้ความสำคัญ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับพี่น้องประชาชน   สำหรับการจัดงานสมัชชาฯ ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เครือข่ายการจัดสวัสดิการชุมชนทุกจังหวัดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาคีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อนำมาปรับและยกยกระดับการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

นางมุกดา อินต๊ะสาร ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดสมัชชาครั้งนี้ เป็นการสร้างความรับรู้งานสวัสดิการชุมชนสู่การประสานงานในระดับนโยบาย  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับภาคี  พร้อมทั้งสร้างพลังและความมุ่งมั่นของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนสู่การยกระดับเป็นองค์กรทางสังคม สุดท้ายสื่อสารงานสวัสดิการชุมชนต่อสาธารณะ พร้อมกันนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนยังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นองค์กรทางสังคมที่มีความกว้างขวางและหลากหลายทั้งด้านการเข้าเป็นสมาชิก การมีสวัสดิการที่หลากหลายมิติ ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต มีระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชนภาคเหนือมี จำนวน 1,213  กองทุน มีสมาชิกประมาณ 1,518,921 คน ช่วยเหลือสมาชิกและผู้เปราะบางทางสังคมได้มากกว่า 55,025 คน โดยกองทุนสวัสดิการชุมชนมีบทบาทในการเป็น “ผู้ช่วยเหลือในเบื้องต้น” เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน จึงสามารถปรับแผนงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างรวดเร็วทันต่อความต้องการ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid –19 หรือกรณีภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น มีการระดมทุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ  รวมทั้งการเป็นผู้ประสานและส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานราชการเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้รับการดูแลช่วยเหลือกันในเบื้องต้น

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีภารกิจสําคัญคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและชุมชน ในการที่จะพัฒนาบนฐานของการพึ่งตนเอง สวัสดิการชุมชน เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชน ในการที่อยากจะมีระบบสวัสดิการของตัวเองที่จะดูแลตัวเอง เติมเต็มกับสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เพราะฉะนั้นชุมชนก็ลุกขึ้นมาเอาเงินมาสมทบร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ในการรวมคนเข้าหากัน รวมถึงการคิดออกแบบการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางในการดําเนินงานตามบทบาทภารกิจของ พอช. ที่จะต้องไปสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เพราะฉะนั้น การหนุนเสริมการดําเนินงานสวัสดิการชุมชน นอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนในระดับตําบลแล้วนั้น จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล และระดับเขตของกรุงเทพมหานครให้เต็มพื้นที่

พอช. มีแนวทางส่งเสริมการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน ในการพัฒนาสนับสนุนกลไกสวัสดิการชุมชนทุกระดับ ให้สามารถขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมายตามแผนงานที่กำหนด การพัฒนาระบบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชน ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มากกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้มีความสามารถในการจัดการทุนของตนเอง และเชื่อมโยงหน่วยงานในระดับพื้นที่ได้ การพัฒนาฟื้นฟูกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลไกสวัสดิการชุมชนด้านระบบการบริหารจัดการที่ และการขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน การเสนอปรับรูปแบบการสมทบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการชุมชน “สมทบถ้วนหน้า” การลดหย่อนภาษีให้กับผู้สมทบงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชน ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้าย

นางสาวสุชาดา มั่นชูขวัญศิริ  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน : ตำบลแม่ฮี้ ตั้งปี 2555 มีการพัฒนาทีมงาน สร้างความเข้าใจร่วมกัน ในการจัดสรรสวัสดิการให้กับสมาชิกในระดับตำบล มีพี่น้องไทยใหญ่ พี่น้องพื้นเมือง กระเหรี่ยง ลีซู ลาหู่ รูปธรรมที่ดำเนินการคือลดความเหลื่อมล้ำ มีการจัดสวัสดิการเท่าเทียมให้กับคนในพื้นที่ ใช้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน เช่น สวัสดิการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สมาชิกทุกคนได้รับเท่ากันทั้งหมด สิ่งที่ภูมิใจคือสามารถชักจูงเครือข่ายจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน ที่แม่ฮี้มีการดูแลเรื่องสังคมสูงวัย ที่ไม่ได้ดูแลแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น มีเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน มีนักเรียนมาเรียน และให้ผู้สูงอายุมาร่วมสอนดนตรี เป็นการสานความสัมพันธ์ของคนหลายช่วงวัยให้เข้ามามีกิจกรรมร่วมกัน มีความผูกพันกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนระหว่างวัย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ เช่น รพสต. ทหาร ตำรวจ มาให้ความรู้กับสมาชิกในตำบล เป็นต้น มีการชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย

ดร.มณเฑียร สอดเนื่อง  ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค : สวัสดิการชุมชนเป็นงานที่ไม่เหมือนกับงานอื่นๆ ที่ทำมา มีความเป็นพิเศษ คือ 1) เป็นการกระจายอำนาจให้สังคมไทย โดยไม่ต้องออก กม. เกิดการกระจายความรับผิดชอบลงไปสู่สังคม 2) การสร้างความสัมพันธ์ชุมชน ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะด้าน ทำหลายเรื่อง หลายมิติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ที่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งคุณภาพชีวิตไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว เราอยู่ในชุมชนที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดสังคมแห่งความสุข ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุข ซึ่งมองว่าสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องที่ชุมชนอยากทำ มีตัว หัวใจ และความมุ่งมั่นที่จะทำ มีการทำพัฒนาต่อยอดไป ไม่ได้แค่การมีกองทุนขึ้นมาแล้วจัดสวัสดิการ โจทย์สำคัญคือการที่จะให้สวัสดิการชุมชนสามารถดูแลคนในพื้นที่ทั้งหมด เป็นการพัฒนาศักยภาพของกองทุนให้สามารถเป็นที่พึ่ง การเพิ่มความสามารถในระดับถัดไปคือการทำความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคีในระดับต่างในพื้นที่ รวมถึงการทำให้เกิดสวัสดิการที่เป็นกองทุนแนวใหม่ พัฒนายกระดับเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็น Center “สวัสดิการชุมชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่”

นายสิน  สื่อสวน  ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) :  ปีนี้ครบรอบ 20 ปีที่ขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน มีการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนให้ยั่งยืนได้เป็นเพราะพี่น้องประชาชน และ 20 ปีมองถึงโอกาสที่เราจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่อยากทำเรื่องสวัสดิการชุมชน เป็นระบบการฟื้นฟูในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของพี่น้องในชุมชนในสังคมไทยกลับมาให้ได้ คิดถึงเรื่องการช่วยกันเอง ช่วยตนเอง โจทย์สำคัญคือการพัฒนาและสร้างชุมชนเข้มแข็งไปด้วยกัน จึงมองถึงการสร้างสวัสดิการ เป็นเงินกองบุญ เมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว หัวใจสำคัญคือการที่จะทำให้องค์กรชุมชนมีระบบการดูแลกันทั้งตำบล สวัสดิการชุมชนมีการให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี การสร้างกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นสิ่งที่คนในตำบลดูแลกัน เป็นกองทุนของคนในชุมชน บริหารโดยชุมชน เพื่อชุมชน จากจุดเริ่มต้น เป็นการขยายความคิดให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “สิ่งที่คิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอช. ไม่ใช่องค์กรที่คิด แต่เป็นองค์กรที่สนับสนุน” วันนี้ครบ 20 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1) สวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ดี สอดคล้องกับวิถีความต้องการของพี่น้องประชาชน เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพที่ดี ชุมชนเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม 2) พี่น้องประชาชนได้พิสูจน์ความตั้งใจ ความสามารถ ความรับผิดชอบ ปัจจุบัน มี 6,000 กว่าแห่ง สมาชิก 7 ล้านกว่าคน มีเงินกองทุน 2 หมื่นกว่าล้าน ท่ามกลางความสำเร็จหากเราจะมองไปในทิศทางข้างหน้าในการสร้างความเปลี่ยนแปลง คือ 1) การมองถึงอุดมการณ์ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” เป็นกองทุนที่ประชาชนเป็นเจ้าของ คิดถึงการพึ่งพางบสมทบจากรัฐบาล มากกว่ามองถึงการให้คนแบ่งปันกัน 2) การที่จะทำให้เป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาให้น้ำหนักกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากไปหน่อย 3) การจัดสวัสดิการชุมชน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ตอนนี้ปัญหาสังคมเปลี่ยน ปัญหาต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยภาพรวม การคิดว่าการจัดสวัสดิการชุมชนยังขยับจากจุดเดิมไม่มากนัก ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาสังคม และปัญหาในปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก โจทย์ที่ท้าทายคือ การทำให้เกิดความเท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรบ้าง 4) การเพิ่มจำนวนสมาชิกที่กว้างขวาง

ฉะนั้นสิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าคือ ประการแรก ทำอย่างไรให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการจัดสวัสดิการให้กับคนในพื้นที่ ประการที่สอง การขยายสมาชิกให้ครอบคลุมคนทั้งตำบล ประการที่สาม เจตนารมณ์และอุดมการณ์ จะมีกระบวนการฟื้นฟูเจตนารมณ์ที่ปลูกฝังไปพร้อมกัน ประการที่สี่ ในปัจจุบันแต่ละกองทุนมีเครือข่ายระดับจังหวัด ระดับภาค และมีโซนด้วย จะทำอย่างไรให้เครือข่ายระดับโซนและระดับจังหวัดมีการเชื่อมโยงกันให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ประการที่ห้า มีประชาชนคิดเรื่องสวัสดิการสังคม การคิดถึงสวัสดิการถ้วนหน้า จะทำอย่างไรให้สวัสดิการชุมชนมีมิติเหล่านี้มากขึ้น ประการสุดท้าย การผลักดันนโยบายระดับประเทศ เช่น กม.ให้สวัสดิการชุมชนได้รับการรับรอง การเชื่อมโยงสวัสดิการสังคมอื่นๆ

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน :  ปี 2519 อ.ป๋วย มองว่าการจัดสวัสดิการที่ดีตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน มีการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกันในพื้นที่ สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ต้องยอมรับว่าคนเปราะบางด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่รูปแบบและวิธีการจัดกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ชาวบ้านดำเนินการและบริหารจัดการเอง เช่น การจัดสวัสดิการควายออกลูก มีการต่อยอดนอกจากจะจัดสวัสดิการให้กับคนที่เลี้ยงควาย การเลี้ยงควายนั้นก็สามารถต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์ควายควายออกลูกก็ได้สวัสดิการ ขี้ควายที่ได้ก็นำไปสู่การทำปุ๋ยการปลูกผักอินทรีย์ รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกบูรณาการเกื้อหนุนช่วยเหลือกันตั้งแต่ครอบครัว และชุมชน รัฐต้องมองถึงมิติการสนับสนุนงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชน  จาการสมทบของชุมชนคิดเป็นร้อยละ65  ซึ่งรัฐต้องมองถึงการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาให้มากขึ้น

เครือข่ายสวัสดิการจะต้องคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการจัดสวัสดิการ มองถึงปัญหาตัวเองให้ออกแล้วนำมาสู่การจัดสวัสดิการของคนในชุมชน เกิดแก่เจ็บตายนั้นอาจจะต้องมองถึงมิติอื่นให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลก็มีระบบดูแลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว และมองถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานหรือกองทุนอื่นๆ เปลี่ยนจากสวัสดิการเชิงรับเป็นสวัสดการเชิงรุกมากขึ้น ประการแรก คิดกิจกรรมหรือแผนการพัฒนาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหา การเปิดพื้นที่ในการสร้างภาคีให้มากขึ้น จะทำให้เกิดการขยายงานกันได้เยอะขึ้น ประการสุดท้าย การหนุนเสริมของภาควิชาการในพื้นที่ อาจจะมีการสำรวจและใช้ข้อมูลเพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด  การจัดสวัดิการช่วยเหลือเกือกูลคนในครอบครัว  บูรณการความร่วมมือหน่วยงาน พัฒนาคุณาภาพชีวิตของประชาชน การประชาสัมพันธ์ ACSR การบูรณการความร่วมมือจากภาคเอกชน  ตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมภาคประชาชน จัดตั้งกลไกร่วมบูรณาการระบบพื้นที่ สร้างระบบในการดูแล การจัดสวัดิการ กลไกการทำงาน อาสาสมัครจิตอาสา มีคุณค่าการจัดการความรู้ สร้างความรู้การบริหารจัดการที่เหมาะสมเกิดขึ้นเจตจำนงค์ เป็ที่ตั้ง การออมบุญเพื่อสะสมพลังกองทุน บูรณการกองทุน กอช. /อพม. ฯลฯ

นายอนันต์ ดนตรี  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ : ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน เชื่อมโยงกลไกร่วม เปิดตา เปิดใจ เข้าหากัน กองทุนสวัดิการชุมชน ที่เอื้อประโยชน์ในสังคม ต้องเชื่อมโยงเชิงระบบ  วัฒนธรรม  วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วน การช่วยเหลือจัดตั้งศูนย์กลางช่วยเหลือภาคประชาชน ให้เท่าเทียมกัน ข้อจำกัด นโยบายของรัฐ  ในการบูรณาการ การเข้าถึงความเข้าใจเชื่อมโยงกันหลากหลายหน่วยงาน ความร่วมมือการใช้ประโยชน์กองทุน การเสริมพลังขบวนองค์กรชุมชน กระตุ้นให้เกิดกำลังใจ ขับเคลื่อนบนฐานรูปธรรมสังคม ภาครัฐ ภาคประชาชน เช่น เชื่อมโยงต้นทุนที่มีอยู่ใมนตำบลเช่น กองทุนหมู่บ้าน ทำงานร่วมกัน

8 ข้อเสนอทิศทางการขับเคลื่อนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค

1.การพัฒนาคุณภาพของกองทุน (1) พัฒนาคน กลไก ให้เข้าถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของสวัสดิการชุมชน ภายใต้หลักสูตรการพัฒนากองทุนที่มีการใช้เทคโนโลยี สมัยใหม่(โปรแกรม) ให้เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่และสามารถส่งต่อการพัฒนาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ (2) ทำสวัสดิการเชิงรุกที่เข้าถึงระบบทุนของตำบลภายใต้รูปแบบการพัฒนาสถาบัน/ธนาคารสวัสดิการและทุนชุมชนเพื่อให้มีการจัดระบบสวัสดิการที่หลากหลาย/ครอบคลุม/ทั่วถึง และสามารถบูรณาการ “คน งาน เงิน” ให้เป็นไปตามหลักบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งทำให้กองทุนสวัสดิการเป็นกลไกหลัก ในการจัดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่

2.พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่าย (1) หาผู้ก่อการดีระดับโซน/อำเภอ/จังหวัด ภายใต้การพัฒนา ”5นัก” ในการขับเคลื่อนสวัสดิการให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จและให้มีการพัฒนาพื้นที่ใหม่(กองทุนใหม่) ที่สามารถเข้าถึงระบบการสนับสนุนจากภาครัฐ (2) ทำเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการยกระดับ บทเรียนการพัฒนากองทุนและโยงเป็น

ชุดประสบการณ์ทำงานที่สามารถเชื่อมโยง เป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค รวมทั้งสามารถพัฒนาความร่วมมือกับภาคีทุกระดับ (3) ให้โซนมีบทบาทในการหนุนเสริม/เรียนรู้เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ แนวทาง การทำงานรูปแบบใหม่ ภายใต้การหนุนเสริมของเครือข่ายจังหวัด/กลุ่มจังหวัด

3.ยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสู่สาธารณะ (1) ผลักดันให้มี พรบ.สวัสดิการชุมชน ที่รองรับการทำงานของสวัสดิการชุมชนที่มีภาคประชาชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน (2) จัดสมัชชาวาระประชาชน ที่ใช้ข้อมูลในการโยงระบบการสื่อสาร รับรู้ในทุกช่องทาง (3) ทำ แบรนด์สวัสดิการชุมชน ที่สร้างการเข้าถึง/ส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน และเป็นพลัง(ทุน) ในการขับเคลื่อนสู่การจัดการตนเองในทุกมิติ

ประกาศเจตนารมณ์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค

ขออาสาเป็นหนึ่งในพลังสังคมที่มุ่งมั่นสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” โดยจะร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการ (1) ฟื้นฟูวัฒนธรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพและยกระดับ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ที่มีอยู่ และจะจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกกลางที่ทำงานเชิงรุกในการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองและสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะผู้ยากลำบากหรือขาดโอกาสในชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในการดำรงชีวิตปกติและสถานการณ์วิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจและภัยพิบัติ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้หลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” และ “การพึ่งตนเองและช่วยเหลือกัน” ของชุมชน (2) พัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ให้มีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ความร่วมมือกับองค์กรภาคีแบบหุ้นส่วนการพัฒนา และการพัฒนานโยบาย (3) ผลักดันทางนโบายให้เกิดการพัฒนา “ระบบสวัสดิการของชุมชน” ซึ่งเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ และระบบสวัสดิการถ้วนหน้า รวมถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ.ศ. …. ที่ภาคประชาชน  โดยเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจะประสานพลังความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชน  องค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมือง