วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 09.00 น. นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ “นวัตกรรมทศวรรษ กับ มิติภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มและพื้นที่คราบเกลือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยได้รับเกียรติจาก นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ นายอนุวัชร โพธินาม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงาน ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ดร.สุมิตรา วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน คณะผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดิน ที่ปรึกษาฯ ข้าราชการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และเกษตรกร เข้าร่วมงานกว่า 400 คน
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจในการจัดการดินเพื่อการเกษตรของประเทศ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 67 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มที่เกิดจากการแพร่กระจายคราบเกลือบนผิวดินครอบคลุมพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ ซึ่งส่งผลกระทบกับเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรเป็นอย่างมาก กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้ตระหนักและให้ความสำคัญการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ร่วมกับการวิจัยด้านการจัดการดิน น้ำ และพืช มีการวางแผน และดำเนินการจัดการพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการศึกษา สำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการพื้นที่ดินเค็ม จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จากการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ทั้งภายในและต่างประเทศ และจากนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม โดยใช้ทั้งวิธีทางวิศวกรรม และวิธีทางชีวภาพ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ดินเค็ม ในแต่ละปีจะมีแผนการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ในรูปแบบการประชุมวิชาการดินเค็ม
โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 10 (1 ทศวรรษ) ซึ่งจะมีการนำเสนอผลสำเร็จทางวิชาการ ในพื้นที่ดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน 4 พื้นที่ การบรรยายพิเศษจากผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดิน ผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ การเสวนา “นวัตกรรมทศวรรษ กับ มิติภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็ม และพื้นที่คราบเกลือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การแสดงนิทรรศการวิชาการ ในหัวข้อ “We are Care : เราใส่ใจ ให้ความสำคัญกับพื้นที่ดินเค็ม และพื้นที่มีคราบเกลือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จาก 5 หน่วยงาน และการนำเสนอโปสเตอร์ “การพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ” จากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 16 ผลงาน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัย นักวิชาการทั้งจากหน่วยงานภายในกรม และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรในชุมชนพื้นที่ดินเค็ม ให้สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืน ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง
การประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้ต่าง ๆ เช่น แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การงานวิจัย งานวิชาการด้านดินเค็ม รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่าย และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่ดินเค็ม เป็นการแสดงศักยภาพของการพัฒนาในแนวใหม่ ในการบูรณาการ และพัฒนาในรูปของ Web Network และการใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างยั่งยืน