รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ และประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-จีน พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล ที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN Plus Three Health Ministers Meeting: APTHMM) และประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN-China Health Ministers Meeting: ACHMM) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ว่า ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN Plus Three Health Ministers Meeting: APTHMM) ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ร่วมหารือในประเด็นการเพิ่มความเข้มแข็งและศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ
“ประเทศไทยเน้นความสำคัญความร่วมมือระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างเครือข่ายและดำเนินงานร่วมกัน เพิ่มความเข้มแข็งรับมือกับโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายอนุทิน กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้ร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN-China Health Ministers Meeting: ACHMM) หารือประเด็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาลและการให้บริการทางการแพทย์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยกล่าวถึงคุณสมบัติของระบบสุขภาพที่ดี 3 ประการ ได้แก่ EQE ความเท่าเทียม (Equity) คุณภาพ (Quality) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ประเทศไทยได้พัฒนาระบบรับรองคุณภาพสถานพยาบาลมากกว่า 25 ปี ดำเนินงานผสมผสานระหว่างความมุ่งมั่นทางจิตวิญญาณและแนวทางที่เป็นระบบ นับว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคม หรือ Social innovation อีกอย่างหนึ่ง รวมถึงได้พัฒนาระบบช่องทางด่วน (Fast Track) ในโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังได้รับพัฒนาระบบขึ้นทะเบียนร้านยาคุณภาพให้สามารถจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้นำการแพทย์ดั้งเดิมและยาสมุนไพรกลับมาใช้ในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาคนไข้ ซึ่งกำลังทำการวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการให้บริการทางสุขภาพต่อไป