“นายกรัฐมนตรี” ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ภายใต้โครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ณ จังหวัดภูเก็ต

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ภายใต้โครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” โอกาสนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดภูเก็ต ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร มีวัตถุประสงค์ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากให้มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธารยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานศูนย์รักษาพยาบาลสัตว์ทะเล และเครือข่ายประสานงานภายใต้มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอบบน ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร มีภารกิจในการจัดการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น การตรวจสุขภาพสัตว์ทะเลหายากในถิ่นที่อยู่อาศัย การศึกษาภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะผลกระทบของขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงการสร้างเครือข่ายการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากหรือนักท่องเที่ยวที่อยากเป็นจิตอาสาที่อยากเรียนรู้ และช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากในเบื้องต้นที่พบเห็นเวลาเกยตื้นบริเวณชายหาดหรือในทะเล เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากมีประสิทธิภาพ ความถูกต้องเหมาะสม ตามหลักวิชาการ และมีมาตรฐานระดับสากล อีกทั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ให้กับหน่วยงานทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติได้อีกด้วย

จากการรายงานในปัจจุบัน กรมทะเล พบว่าประเทศไทยพบการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด 28 ชนิด และเต่าทะเลจำนวน 5 ชนิด ซึ่งสาเหตุหลักของการเกยตื้นในกลุ่มสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมมาจากการป่วยตามธรรมชาติ และสาเหตุหลักของการเกยตื้นโดยเฉพาะกลุ่มเต่าทะเลเกิดจากขยะทะเล ภายในศูนย์วิจัยฯ มีบ่อสำหรับการรักษาพยาบาลเต่าทะเล จำนวน 16 บ่อ และบ่อสำหรับการฟื้นฟูสุขภาพของเต่าทะเล จำนวน 6 บ่อ ในส่วนของผลการดำเนินงานของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธารในระหว่าง ปี พ.ศ. 2562 – 2567 มีการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น จำนวน 749 ตัว โดยแบ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากเกยขึ้นมีชีวิต จำนวน 307 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 41 ) และซากสัตว์ทะเลหายาก จำนวน 442 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 59) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเต่าทะเล จำนวน 611 ตัว เกยตื้นมีชีวิต จำนวน 265 ตัว ซากเกยตื้น 346 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 82) กลุ่มโลมาและวาฬ 166 ตัว เกยตื้นมีชีวิต 38 ตัว ซากเกยตื้น 78 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 15) กลุ่มพะยูน 17 ตัว เกยตื้นมีชีวิต 1 ตัว ซากเกยตื้น 16 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 2) และกลุ่มฉลามวาฬและกระเบนราหู 5 ตัว เกยตื้นมีชีวิต 3 ตัว ซากเกยตื้น 2 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 1) ผลการดำเนินงานของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธารมีอัตราการรอดชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก โดยคิดจากจำนวนสัตว์ทะเลหายากที่รักษาหายและปล่อยลงสู่ทะเลรวมทั้งจำนวนสัตว์ทะเลหายากที่อยู่ในระหว่างการพักฟื้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของสัตว์ทะเลหายากที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนรู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู ศึกษาวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเคลื่อนที่เร็ว รวมถึงบุคลากร สัตวเเพทย์ ที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากให้มีอัตราการรอดตายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ นับได้ว่าเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลไทย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้ตระหนักถึงทรัพยากรทางทะเลที่ล้ำค่าแห่งการรักษาไว้ให้คงอยู่กับท้องทะเลไทยสืบไป