กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จับมือมหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยบูรพา มอบโควตาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นกรณีพิเศษ แก่ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนด้านการศึกษา สร้างแรงจูงใจให้แก่ ยุว อสม. ผลิตบุคลากรสาธารณสุขรุ่นใหม่ร่วมดูแลสุขภาพชุมชน
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุขศึกษา กรม สบส. นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และรองศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี รอดจากภัย คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนายุวอาสาสมัครสาธารณสุข โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรม สบส. ร่วมเป็นสักขีพยาน
นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า ตามที่ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนกรม สบส. ในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ยุว อสม. เป็นเครือข่ายจิตอาสาในการขับเคลื่อนสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งในสถานศึกษาและในชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ดูแลสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพเพื่อนนักเรียน ครอบครัวและชุมชนให้มีความเหมาะสม เกิดภูมิคุ้มกันครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งการจะรักษาเครือข่ายการดำเนินงานด้านสุขศึกษา และการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้มีความยั่งยืนนั้น หน่วยงานด้านสาธารณสุข และสถาบันการศึกษา จะต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจแก่ยุว อสม. ในการศึกษาต่อ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ องค์ความรู้ในด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุขศาสตร์ และทักษะชีวิตที่จำเป็น เกิดเป็นบุคลากรสาธารณสุขรุ่นใหม่ และเครือข่ายด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพที่มีความยั่งยืน กรม สบส.จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมและพัฒนายุว อสม. กับ 2 สถาบันการศึกษาได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยบูรพา มอบโควตาศึกษาต่อเป็นกรณีพิเศษในคณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย กรม สบส. จะดำเนินการกำหนดเกณฑ์ และรับรองยุว อสม.ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพื่อรับรองสนับสนุนด้านการศึกษาต่อและสร้างแรงจูงใจอื่นๆ พร้อมร่วมพัฒนาหลักสูตรการจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรม การสื่อสาร สนับสนุนแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขศึกษาและการพัฒนาพฤติกรรมและทักษะชีวิตที่จำเป็นแก่ ยุว อสม. ที่เป็นแกนนำเด็กและเยาวชน และแลกเปลี่ยนหรือใช้ข้อมูลความรู้ กิจกรรมหรือหลักสูตรของหน่วยงานระหว่างกันผ่าน Platform online และ Offline ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567 – 2572
ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวต่อว่า โควตาที่ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนแก่ ยุว อสม. เข้าศึกษาต่อเป็นกรณีพิเศษ เป็นหลักสูตร 4 ปี สำหรับมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต 3 สาขาวิชา ได้แก่ 1.สาขาวิชาอนามัยชุมชน จำนวน 12 คน 2.สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 8 คน 3.สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 คน ส่วนมหาวิทยาลัยบูรพา ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ โดยเริ่มทำการคัดเลือกในปี 2568