กรมประมง…เดินหน้าสานต่อ “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” ปี 67 เสริมทัพความรู้คณะกรรมการแหล่งน้ำและเจ้าหน้าที่ ต่อยอดขยายผลโครงการฯ สู่ความยั่งยืน

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ ห้องพุดตาน โรงแรมพะเยาเกทเวย์ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “คณะกรรมการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมและเจ้าหน้าที่โครงการ ประจำปี 2567” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการนำต้นแบบของโครงการฯ ที่ประสบผลสำเร็จไปดำเนินการพัฒนาต่อยอดขยายผลให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 8 สิงหาคม 2567

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังพิธีเปิดการสัมมนาฯ ว่า… โครงการธนาคารผลผลิต สัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม เป็น 1 โครงการสำคัญตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้สามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ เป็นธนาคารสัตว์น้ำของชุมชน เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่ายและสร้างรายได้ในครัวเรือนของราษฎร และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมติดตามประเมินผล” โดยอาศัยแหล่งน้ำปิดขนาดเล็กพื้นที่ 10-60 ไร่ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ โดยกรมประมงได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชน ในด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการกลุ่ม โดยชุมชนร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการ กำหนดกฎระเบียบร่วมกันในการบริหารจัดการ ชุมชนร่วมกันจัดทำแผน และดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างผลผลิตสัตว์น้ำตามแผน โดยใช้เงินอุดหนุนที่กรมประมงจัดสรรให้กับชุมชนโดยมีเจ้าหน้าที่ประมงคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ชุมชนได้ร่วมเป็นเจ้าของโครงการ โดยมีการระดมหุ้นจัดตั้งเป็นกองทุนโครงการ และจัดสรรรายได้ตามกฎระเบียบที่ร่วมกันกำหนดขึ้น โดยส่วนหนึ่งมีการปันผลคืนให้กับสมาชิก และจัดสรรไว้ดำเนินงานในปีต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำเกิดขึ้นกว่า 160 แห่ง ในพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ ผลการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา เห็นผลในเชิงประจักษ์ ทำให้กรมประมงได้รับรางวัลเลิศรัฐ  ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม 6 ปีซ้อน รวม 7 รางวัล ชุมชนมีศักยภาพสามารถผลิตสัตว์น้ำและบริหารจัดการโครงการได้ตั้งแต่การผลิตสัตว์น้ำทั้งจากการปล่อยในแหล่งน้ำและการเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำนำมาแปรรูปสัตว์น้ำจนถึงการตลาด ทำให้มีรายได้เข้ากองทุนเกิดเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน มีคณะกรรมการแหล่งน้ำแล้ว 2,636 คน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 10,851 คน มีการระดมเงินหุ้นเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2.5 ล้านบาท ชุมชนสามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ มีการจับสัตว์น้ำที่ปล่อยขึ้นมาใช้ประโยชน์แล้วกว่า 512 ตัน ชุมชนมีรายได้เข้ากองทุนโครงการฯ กว่า 20 ล้านบาท และชุมชนได้จัดสรรรายได้ปันผลคืนให้แก่สมาชิกแล้วกว่า 2.2 ล้านบาท เกิดเงินทุนหมุนเวียนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

การสัมมนาคณะกรรมการแหล่งน้ำและเจ้าหน้าที่โครงการฯ ได้จัดขึ้นทุกปี สำหรับการจัดสัมมนาในปี 2567 นี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 130 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการประจำแหล่งน้ำที่ร่วมโครงการในปี 2566 และ 2567 จากทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่กรมประมงที่รับผิดชอบโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการฯ จากการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธนาคารสัตว์น้ำชุมชนสู่ความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้ของชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยอธิบดีกรมประมง  รวมถึงเวทีเสวนาจากบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน ในหัวข้อ “แนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำ และการขยายผลต่อยอดโครงการ” และหัวข้อ “บทบาทของชุมชนและภาครัฐในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากนิทรรศการแสดงผลงานโครงการฯ ที่ดำเนินการในปี 2566 (จำนวน 20 แห่ง) และ การศึกษาดูงานโครงการฯ แหล่งน้ำหนองบัว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และมีการระดมความคิดเห็นจากการอภิปรายกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางการต่อยอดขยายโครงการในพื้นที่อื่น

การสัมมนาในครั้งนี้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์จากการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาและต่อยอดขยายผลในแหล่งน้ำอื่นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคณะกรรมการธนาคารสัตว์น้ำทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินโครงการเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในการพัฒนาภาคการประมงอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานในพื้นที่จริงของโครงการฯ ที่ประสบผลสำเร็จ ณ แหล่งน้ำหนองบัว บ้านไคร้ป่าคา หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดพะเยาที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย แหล่งน้ำทำนบปลาบ้านจูนพัฒนา อ.จูนพัฒนา แหล่งน้ำห้วยแม่ลูกอ่อน อ.เชียงม่วน แหล่งน้ำหนองแดง อ.ภูซาง ซึ่งแหล่งน้ำหนองบัว มีพื้นที่ 29 ไร่ เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2564  มีการปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ 415,100 ตัว อาทิเช่น ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิก 156 ราย มีเงินเข้าร่วมหุ้น 81,500 บาท มีกิจกรรมสร้างรายได้ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง การเลี้ยงหอยขมในกระชัง การเลี้ยงไข่ผำ การเปิดจับผลผลิตสัตว์น้ำ (เปิดตกเบ็ด) สามารถจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ประมาณ 4,589 กิโลกรัม และคิดเป็นมูลค่า 363,440 บาท การแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อจำหน่าย เช่น แอ๊บปลาดุก ปลาแดดเดียว กิจกรรมต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้แหล่งน้ำแห่งนี้เป็นจำนวนเงิน 176,895 บาท มีการจัดสรรเงินหุ้นของสมาชิกตามกฎระเบียบของแหล่งน้ำหนองบัว

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า…กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อการประมงภายใต้การมีส่วนร่วม ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน และการรวมกลุ่มและบริหารกองทุนภายใต้โครงการธนาคารฯ เพื่อนำต้นแบบ Best practices ที่ดีไปพัฒนาต่อยอดขยายผลในแหล่งน้ำอื่น และเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน