รองนายกฯ “ภูมิธรรม” ไฟเขียวโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายบึงหนองบอนฯ เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ลดพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม.

รองนายกฯ “ภูมิธรรม” เห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย จากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ วงเงิน 9,800 ล้านบาท ช่วยเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หวังแก้ปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเช่นกรุงเทพมหานคร และในการประชุม กนช. ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย จากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ กรอบวงเงินงบประมาณ 9,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (พ.ศ.2569–2575) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตลาดกระบัง เขตสะพานสูง เขตมีนบุรี และเขตประเวศ ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2564 และปี 2565 ที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก สาเหตุเนื่องจากการสูบน้ำเพื่อลดระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ที่ใช้เป็นคลองสายหลักในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะมีระยะทางไกล

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย จากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ ความยาวส่วนต่อขยาย 13.25 กิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสถานีสูบน้ำปลายอุโมงค์ ขนาด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 1 แห่ง อาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์ จำนวน 3 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.70 เมตร ยาว 13.25 กิโลเมตร เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากคลองประเวศบุรีรมย์ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และลดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้านในและนอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่เขตสะพานสูง และพื้นที่บางส่วนของเขตบางกะปิ เขตสวนหลวงและเขตประเวศ ส่วนพื้นที่ด้านนอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่เขตลาดกระบังและพื้นที่บางส่วนของเขตหนองจอกและมีนบุรี รวม 152.90 ตารางกิโลเมตร

“โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนฯ สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับงบประมาณ เนื่องจากไม่มีพื้นที่บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่มีสิ่งรุกล้ำทางน้ำ และไม่มีการเวนคืนที่ดิน โดยการก่อสร้างทั้งหมด อยู่ในเขตคลองที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแล ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถช่วยบริหารจัดการน้ำท่วมได้อย่างเป็นระบบ ช่วยเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ได้ตามสถานการณ์ฝนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้าน เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม กนช.ในวันนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี)  มีความเป็นห่วงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ทั้งสองท่านได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัดพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอย่างทันท่วงที นอกจากนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าฟื้นฟูสถานการณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนนี้ สทนช.ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการคาดการณ์พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยอีกราว 1-2 ลูก ในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อนึ่ง การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางและปฏิทินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 (ร่าง) กฎกระทรวงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ พ.ศ. …. (มาตรา 74) และการจัดทำผังน้ำของลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตามที่ สทนช. เสนอ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งการจัดทำผังน้ำจะเป็นเครื่องมือสำหรับให้ภาครัฐและภาคประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการประกอบการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยด้านน้ำในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน