กรมปศุสัตว์ โชว์ผลงานถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตปศุสัตว์ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตามนโยบายด้วยหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 กรมปศุสัตว์จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตปศุสัตว์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อจัดแสดงผลงานและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการส่งเสริมและการผลิตปศุสัตว์ของหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แก่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และเพื่อการขับเคลื่อนกลใกในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาคปศุสัตว์ ให้เกิดการตระหนักรู้ในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ รวมถึงส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปศุสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ให้สอดดล้องและบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงาน และนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน ผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ และมีนายบุญสิงห์​ วรินทร์รักษ์​ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์ประภาส​ ภิญโญชีพ​ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์​ ร่วมภายในงาน​ ณ​ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธ์สัตว์​ อำเภอสันป่าตอง​ จังหวัดเชียงใหม่

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้โดยการนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้ความสำคัญในการทำให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยกำหนดเป้าหมายสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี ซึ่งทางด้านปศุสัตว์ได้มีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้ง 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน และมาตรการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ เพื่อนำพาภาคเกษตรไทย สู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับวิกฤติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านปศุสัตว์ในการเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมด้านการตลาด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจอาหาร เพื่อมุ่งหวังให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดกลุ่มเครือข่ายที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ สามารถขยายผลช่วยเหลือได้แบบองค์รวม

ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตปศุสัตว์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนว่า จากข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน กว่า 380,000 ราย จำนวนปศุสัตว์ 31,000,000 ตัว กรมปศุสัตว์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง โดยได้จัดทำโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตปศุสัตว์ขึ้น ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อขับเคลื่อนงาน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เสริมสร้างความภาคภูมิใจ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน นำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้รับประโยชน์สูงสุด รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาคปศุสัตว์

สำหรับโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตปศุสัตว์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีกิจกรรมการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ได้แก่ พันธุกรรมสัตว์พันธุ์ดีของประเทศไทย เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ การจัดการอาหารสัตว์เพื่อการลดต้นทุนการผลิต ผลงานความสำเร็จด้านการผลิตสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการส่งเสริมและการผลิตปศุสัตว์ต่างๆ เช่น การสาธิตนวัตกรรมพืชอาหารสัตว์ ได้แก่ “ระบบน้ำอัจฉริยะเพื่อการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์ การตัดพืชอาหารสัตว์ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร การเก็บสำรองเสบียงสัตว์ด้วยเครื่องม้วนก้อนหญ้าด้วยพลาสติก การใช้เทคโนโลยีการจัดการแปลงพืชอาหารสัตว์ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนำร่องการสำรองเสบียงสัตว์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในยามขาดแคลน และช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงโคนม – โคเนื้อ ในช่วงประสบภัยพิบัติ และการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “การพัฒนางานส่งเสริมปศุสัตว์เชิงบูรณาการ” ภายใต้โครงการ พัฒนาศักยภาพนักส่งเสริม ปศุสัตว์และผู้นำเครือข่ายเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน