วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 เวลา 08.40 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ประจำแขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำ ณ คลองเกาะโพธิ์ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการแปรรูปเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ
นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในฐานะโฆษกกรมประมงว่า…จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อสั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งกรมประมงได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ ผ่าน 7 มาตรการ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญนั้นคือ มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด อีกทั้งกรมประมงยังได้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง
สำหรับการลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรม “การกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” บริเวณคลองเกาะโพธิ์ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ของคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตทุ่งครุ และเขตบางบอน โดยคณะผู้บริหารได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคลองเกาะโพธิ์ เพื่อพูดคุยและรับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเครื่องมือประมงให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อใช้ในการจับปลาหมอคางดำ จากนั้นเป็นการร่วมกิจกรรมกำจัดปลาหมอคางดำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหาร และพี่น้องประชาชน ณ คลองเกาะโพธิ์ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงเรือ เพื่อร่วมกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ โดยปลาหมอคางดำที่จับได้มีน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม หลังจากนั้น รองอธิบดีกรมประมงได้ลงเรือเพื่อร่วมกิจกรรมจับปลาหมอคางดำร่วมกับเจ้าหน้าที่ในรอบสุดท้าย โดยปลาหมอคางดำที่จับได้มีน้ำหนัก 135 กิโลกรัม รวมปลาหมอคางดำที่จับได้ในวันนี้มีน้ำหนัก 435 กิโลกรัม พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร ยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการการแปรรูปเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำของกรมประมง อาทิ ปลาบดแผ่น ปลาแดดเดียว ไส้อั่ว น้ำปลา และนิทรรศการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง จากปลาหมอคางดำของกรมพัฒนาที่ดิน
นอกจากนี้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารยังมีกำหนดที่จะเข้าร่วมกิจกรรมลงแขก ลงคลอง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 “กิจกรรมลงแขก ลงคลอง” ณ คลองปก คลองสาขาแม่น้ำคลองด่าน บริเวณด้านหลังของตลาดสดคลองด่าน ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า…ปลาหมอคางดำเป็น 1 ในปลา 13 ชนิดต้องห้ามตามข้อกำหนดมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และหากผู้ใดฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ใดพบเห็นเหตุดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง หรือแจ้งเบาะแสพิกัดที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลาที่ https://shorturl.asia/3MbkG