อธิบดีกรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจาก พายุโซนร้อน “โพดุล” ที่จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก พร้อมเน้นย้ำให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ให้สามารถเข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โพดุล” ได้เคลื่อนขึ้นตัวเข้าสู่บริเวณอ.เมือง จ.นครพนม แล้ว เมื่อเวลา 05.30 น. ของวันนี้ (30 ส.ค. 62) โดยเมื่อเวลา 07.00 น. มีศูนย์กลางอยู่บริเวณอ.ปลาปาก จ.นครพนม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณจังหวัดสกลนครในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในทุกภาคของประเทศไทย นั้น
ในวันที่ 30 ส.ค. 62 ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ VDO Conferenceให้ทุกโครงการชลประทาน ดำเนินการสำรวจและกำหนดพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยขอให้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบประจำในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทร๊คเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่กระจายอยู่ในแต่พื้นที่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม ขอให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ติดตามปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และหากจำเป็นต้องระบายน้ำ ขอให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายต่อประชาชนให้มากที่สุด ส่วนแม่น้ำสายหลักต่างๆ ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลหรือระบายได้สะดวก ส่วนอาคารชลประทานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประตูระบายน้ำ(ปตร.) คลองหรือระบบระบายน้ำ ให้ตรวจสอบให้มีความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำต่างๆ ที่ใช้ในการป้องกันจุดเสี่ยงน้ำท่วมทุกแห่ง จะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง หากพบจุดใดอ่อนแอหรือทรุด ต้องรีบดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่เป็นเขตชุมชนเมือง หรือเขตเศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร ให้เร่งหาแนวทางในการป้องกันพื้นที่เหล่านี้ให้รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกลต่างๆ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำ หากเกิดกรณีน้ำท่วมขังขึ้นในพื้นที่ เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและสภาวะอากาศในระยะนี้อย่างใกล้ชิดด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
30 สิงหาคม 2562