นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.87 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว (แกว่งตัวในช่วง 35.84-36.02 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ สู่โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ หลังมีรายงานข่าวในช่วงราว 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวผสมผสานอีกครั้ง โดยบรรดาหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง นำโดย Nvidia -7.0% ตามการลดความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก่อนทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ในสัปดาห์นี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มการเงินและกลุ่มพลังงานสามารถปรับตัวขึ้นได้ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงลดลง -1.28% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.50%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.45% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ก็ยังขยายตัว +0.6%y/y (+0.3%q/q ดีกว่าคาด) อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะกลุ่ม AI/Semiconductor ยุโรป ก็เผชิญแรงกดดันบ้าง ตามแรงขายหุ้นเทคฯ ธีมดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ
ในส่วนตลาดบอนด์ ท่าทีของผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนกันยายน ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.15% อย่างไรก็ดี โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ตามที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งผลการประชุมเฟด รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากรายงานข่าวว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในการประชุมที่จะถึงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.4-104.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 2,455 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งต้องระวังความผันผวนในตลาดการเงิน หาก BOJ ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับลดปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาล อย่างที่ตลาดคาดหวัง หรือ มีรายงานข่าวออกมาในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยหากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าได้พอสมควรในระหว่างวัน นอกจากนี้ ในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนกรกฎาคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนกรกฎาคม
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันพฤหัสฯ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยแม้ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ทว่าผู้เล่นในตลาดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เฟดจะส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเป็นกรอบล่างของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ที่เราประเมินไว้) ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ “เร็วและแรง” หากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ ในวันนี้ จนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (สถิติในปีนี้ พบว่า เงินเยนสามารถอ่อนค่าได้ราว 1.4% โดยเฉลี่ย หากตลาดผิดหวังกับผลการประชุม BOJ) นอกจากนี้ ในช่วงตั้งแต่ 19.15 น. ตามเวลาประเทศไทย เงินบาทก็เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับท่าทีของเฟด ที่อาจไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็สามารถกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้เราจะประเมินว่า เงินบาทนั้นมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีโซนแนวต้านตั้งแต่ช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปจนถึงช่วง 36.25 บาทต่อดอลลาร์ ที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ในทางกลับกัน หากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้จริง เงินบาทก็สามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบแนวรับสำคัญถัดไปแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.25 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟด)