แนะวิธีป้องกันหนอนเจาะฝักมะขาม

ระยะนี้มักจะมีฝนตกในบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะขามเฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะฝักมะขาม โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะที่มะขามพัฒนาผล เริ่มแรกจะพบผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนฝักมะขาม ตั้งแต่ช่วงที่มะขามพัฒนาผลเริ่มเป็นฝักอ่อนไปจนกระทั่งเป็นฝักแก่และสุก ซึ่งมักจะวางไข่บนฝักมะขามที่มีรอยแตกหรือรอยหักมากกว่าฝักปกติ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะเจาะเข้าสู่ฝักมะขามไปกัดกินเนื้อภายในและเมล็ด หนอนจะถ่ายมูลเป็นขุยออกมาที่ปากรูเป็นกระจุกสีน้ำตาล และอาศัยอยู่ในฝักจนกระทั่งเข้าดักแด้ เมื่อออกเป็นตัวเต็มวัยจะบินไปผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป การเข้าทำลายในช่วงฝักอ่อนทำให้ฝักแห้งลีบ ส่วนการเข้าทำลายในช่วงฝักแก่จะถูกกัดกินเนื้อภายในและส่งผลให้ฝักมะขามเสียหาย

แนวทางในการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะฝักมะขาม ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายไปเผาทิ้งทันที จะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของหนอนลงได้ หากพบการเข้าทำลายของหนอนเจาะฝักมะขาม ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดาไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2-3 ครั้งติดต่อกัน และพ่นห่างกัน 7 วันเมื่อพบการระบาด หลีกเลี่ยงการพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดียวติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้หนอนเจาะฝักมะขามสามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นได้รวดเร็วและหลายชนิด

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร