จ.นครนายก/ คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.จัดประชุมสัญจรที่ จ.นครนายก โดย ผวจ.ดึง พอช.เข้าร่วมพัฒนาจัดหวัด เสนอจัดทำ ‘One Data One Plan’ ร่วมกัน เน้นผลประโยชน์ของประชาชน ด้านคณะกรรมการสถาบันฯ เห็นชอบแผนงาน 3 ปี (2563-2565) และแผนปี 2563 ของ พอช. เผยแผน 3 ปีด้านความมั่นคงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมีเป้าหมายสนับสนุน 211,482 ครัวเรือนทั่วประเทศ
วันที่ 29 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และผู้บริหารสถาบันฯ จำนวน 40 คน ได้เดินทางมาประชุมสัญจรที่จังหวัดนครนายก โดยในช่วงเช้านายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ นำคณะเข้าเยี่ยมนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกที่ศาลากลางจังหวัด มีการหารือการทำงานของ พอช.ในพื้นที่จังหวัดนครนายก
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวว่า พอช.ทำงานสนับสนุนการพัฒนาของชุมชนหลายด้าน เช่น เรื่องที่อยู่อาศัยมีโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน งบประมาณหลังละ 18,000 บาท ดำเนินการในจังหวัดนครนายกไปแล้ว 721 ครัวเรือน โครงการบ้านมั่นคงชนบท ดำเนินการไปแล้ว 9 ชุมชน 654 ครัวเรือน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านมั่นคงฯ บางโครงการติดอุปสรรคการขอใช้ที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จึงขอให้ทางผู้ว่าฯ ช่วยแก้ไข
นายรัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่า จ.นครนายก กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง พอช.ดำเนินโครงการต่างๆ ในจังหวัดนครนายกไปตามโครงการของ พอช. ขณะที่จังหวัดนครนายกมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด (พชจ.) มีการดำเนินโครงการหลายด้าน หลายมิติ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ สตรี รวมทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย โดยทำงานร่วมกับพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด รวมทั้งสาธารณสุขจังหวัด แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานการทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างทำ ตนจึงอยากชวนผู้แทน พอช.เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนระดับจังหวัด (พชจ.)
“ผมเสนอให้มีการทำงานร่วมกันแบบ One Data One Plan คือ มีการสำรวจข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน แล้วนำมาจัดทำแผนงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้การทำงานทับซ้อนกัน โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จะทำให้การทำงานต่างๆ ง่ายขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของของบ้านพอเพียงชนบทซึ่งเป็นโครงการซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนนั้น ผมเสนอให้มีการจ้างนักเรียนอาชีวะมาเป็นช่าง สร้างทีมช่างระดับตำบลขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างงานในพื้นที่” ผวจ.นครนายกกล่าว
หลังจากนั้นเวลา 9.00-12.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ ณ ห้องประชุมขุนด่าน โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ เช่น การเสนอแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) และแผนปฏิบัติการปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้คณะกรรมการสถาบันฯ พิจารณาเห็นชอบ
ทั้งนี้กรอบแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) มี 4 ประเด็นการพัฒนา เช่น 1. การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีเป้าหมายสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมความเข้มแข็ง มีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง โดยการจัดทำแผนพัฒนาตำบล รวม 3 ปี จำนวน 6,000 ตำบลทั่วประเทศ การสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวม 3 ปี จำนวน 211,482 ครัวเรือน ฯลฯ
2.การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน มีเป้าหมายให้ผู้นำชุมชนมีศักยภาพ องค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล เช่น มีผู้นำที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาและได้รับการพัฒนา รวม 3 ปี จำนวน 30,000 คน สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถดำเนินงานได้ตามภารกิจ รวม 3 ปี จำนวน 6,680 ตำบล มีตำบลที่มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับสมาชิกในชุมชน รวม 3 ปี จำนวน 6,700 ตำบล ฯลฯ
ส่วนแผนปฏิบัติการประจำปี 2563 มีโครงการที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 20,000 ครัวเรือน โครงการบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 43,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร จำนวน 3,115 ครัวเรือน ฯลฯ
ทั้งนี้คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เห็นชอบแผนดังกล่าว ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในปี 2563 อยู่ในวงเงิน 8,681 ล้านบาทเศษ แยกเป็นงบดำเนินงาน 225 ล้านบาทเศษ งบพัฒนาตามแผนงาน 128 ล้านบาท และงบประมาณอุดหนุนโครงการต่างๆ รวม 8,328 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินงาน โดยต้องเสนอผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายคณะกรรมการสถาบันฯ และผู้บริหารสถาบันฯ ได้เดินทางไปที่วัดฝั่งคลอง เทศบาลตำบลเกาะหวาย อ.ปากพลี จ.นครนายก เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะหวาย ซึ่งชาวชุมชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทพวน มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทพวนต้อนรับคณะกรรมการสถาบันฯ
นายสกิด ทางาม ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะหวาย กล่าวว่า ตำบลเกาะหวายมีพื้นที่ประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร มี 4 ชุมชน รวม 720 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 1,900 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทพวนซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันชาวไทพวนตำบลเกาะหวายยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทพวนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด ภาษาเขียน อาหาร การยึดถือ ‘ฮีต 12 คลอง 14’ (คล้ายกับประเพณี 12 เดือนของไทย)
ส่วนสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะหวาย จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 มีคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนฯ ประมาณ 60 คน มีกลุ่มที่ร่วมจดแจ้งจัดตั้งสภาฯ จำนวน 30 กลุ่ม จากการวิเคราะห์ข้อมูลตำบลร่วมกันของคณะทำงานสภาฯ พบว่า ในตำบลเกาะหวายยังไม่มีปัญหาที่เป็นประเด็นร้อน แต่คณะทำงานสภาฯ เห็นว่า ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทพวนหากไม่รักษาเอาไว้ในอนาคตอาจไม่มีผู้สืบทอด โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่
“ดังนั้นคณะทำงานสภาฯ จึงร่วมกันสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาวไทพวนเอาไว้ เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ การแต่งกาย การทอผ้าลายโบราณ ภาษาพูด ภาษาเขียน อาหาร และการแสดงพื้นบ้านของชาวไทพวน นอกจากนี้คณะทำงานฯ ยังสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเกาะหวาย โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทพวน เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทพวน รวมทั้งมีการแสดงพื้นบ้านต่างๆ เอาไว้ต้อนรับผู้มาเยือน เช่น ขบวนกลองยาว เพลงเรือไทพวน และมีขันโตกไทพวนเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย” ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะหวายพูดถึงบทบาทของสภาฯ
นางอรกัญญา นิลบุตรดา ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครนายก กล่าวถึงผลการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชน จ.นครนายกว่า ปัจจุบันมีการจัดสภาองค์กรชุมชนตำบลเต็มพื้นที่แล้ว รวม 45 ตำบล มีสมาชิกสภาฯ 1,654 คน มีองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิกรวม 1,290 กลุ่ม มีศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชนตั้งอยู่ภายในศาลากลางจังหวัดนครนายก เพื่อเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนงานและเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชน พมจ.จังหวัด บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของชาวนครนายก
“นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบลยังได้ขับเคลื่อนงานไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดนครนายกแล้ว 44 กองทุน มีสมาชิกรวมประมาณ 6,500 คน เงินทุนสะสมกว่า 99 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชน รวม 15 ตำบล ดำเนินการในลักษณะคลัสเตอร์หรือเครือข่าย เช่น เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวชุมชน แปรรูปผลผลิต รวมทั้งทำเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วย โดยทำเรื่องบ้านพอเพียงชนบทแล้ว 41 ตำบล มีผู้ได้รับประโยชน์ 721 ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาทเศษ และทำเรื่องบ้านมั่นคงเมือง 9 โครงการ 9 ชุมชน จำนวน 654 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 31 ล้านบาทเศษ” ผู้ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน จ.นครนายกกล่าว
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวแก่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครนายก และคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลเกาะหวายว่า ตำบลเกาะหวายมีจุดแข็งของตนหลายอย่าง เช่น เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทพวน เป็นหมู่บ้านศีล 5 โดยมีกลุ่มผู้สูงอายุร่วมกันขับเคลื่อน จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลจากสำนักงานพระพุทธศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ
“จุดเด่น จุดขายของวัฒนธรรมไทพวนที่หลากหลาย ทำให้เชื่อมโยงไปสู่เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน โดยมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่กำลังจะยกระดับพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ เช่น การทอผ้าไทพวน มีกลุ่มอาชีพผลิตเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ พอช.เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามากระตุ้นให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ” นายไมตรียกตัวอย่าง